ท้าวศรีสุนทร (มุก)

ท้าวศรีสุนทร เป็นวีรสตรีชาวถลางอีกท่านหนึ่งที่ปรากฏชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยว่าเป็นผู้หญิงที่กล้าหาญ จับดาบเข้าต่อสู้กับพม่าข้าศึกจนได้รับชัยชนะ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘
ท้าวศรีสุนทรนามเดิมว่า มุก เป็นบุตรสาวคนที่สองของพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงคราม พระยาถลาง มารดาคือ แม่หม่าเซี้ย คุณมุกถือกำเนิดเมื่อ ประมาณ พ.ศ. ๒๒๘๐ จ.ศ. ๑๐๙๙ นพศก ปีมะเส็ง วันพฤหัสบดี เดือน ๓ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ เสวยราชย์เป็นปีที่ ๕ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย คุณมุกมีพี่น้องด้วยกัน ๕ คน คือ คนพี่คือ คุณหญิงจันหรือ ท้าวเทพกระษัตรี คุณมุกเป็นคนที่สอง คนที่สามคือคุณหม้า(หมา) คนที่สี่คือนายอาด และคนสุดท้องคือนายเรือง
เมื่อคุณมุกสมัยยังเป็นเด็ก มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดหลักแหลม มีความคิดเป็นของตนเอง มีความกล้าแสดงออกและมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง ได้ศึกษาการบ้านการเรือน การทำนาและต่อสู้ป้องกันตัวด้วยอาวุธประเภทต่างๆ การเก็บภาษีส่วยอากรดีบุกเป็นอาทิ ด้วยเหตุที่บ้านบิดาเป็นจวนผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งเป็นทั้งที่พักอาศัยและเป็นสถานที่ราชการที่บุคคลต่างๆเข้าพบ ทั้งฝ่ายขุนนางและพ่อค้าชาติต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนที่ทำให้คุณมุกมีประสบการณ์เบื้องต้นของชีวิตดีกว่าเด็กอื่นๆ เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับชีวิตของตน ด้วยความที่มีความเฉลียวฉลาดและมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง เมื่อโตเป็นสาวแล้ว บิดาหาคู่ครองให้ นางก็ไม่เอา เพราะเห็นว่าคนเหล่านั้นไม่คู่ควรและมีความรู้ความสามารถไม่เท่าเทียมกับตน จึงอยู่มาเรื่อยๆ ด้วยการครองความเป็นโสด จนเลยวัยที่จะมีสามี คุณมุกจึงตัดสินใจเป็นโสดจนตลอดอายุขัย
ถึงแม้คุณมุกมิได้มีครอบครัว แต่ก็ได้ช่วยครอบครัวคือ พระยาถลาง พี่สาว น้องชายและญาติพี่น้องทำงานทุกด้าน เช่นการภาษีอากรดีบุก การซื้อขายสินค้าพวกข้าวสาร ยา ผ้า การดูแลบรรดาลูกน้องบิดาและพี่เขยพี่สาว ได้แก่พวกคุลาคนใช้แขกดำ คนจีนเสมียน ตลอดจนขุนนางชั้นต้นที่จวน รวมทั้งการฝึกอาวุธให้ชายหนุ่มที่ถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารด้วย
เมื่อทราบข่าวการศึกพม่า กำลังเตรียมที่ยกมาตีเมืองถลาง คุณมุกจึงเป็นคนหนึ่งที่ช่วยพระปลัดเมือง หลวงยกกระบัตรและหลวงพระคลัง ในการเตรียมทัพค่ายคูประตูหอรบ ด้วยความที่คุณมุกมีความฉลาดรอบคอบ จึงสามารถที่จะเตรียมการได้ดี ในขณะที่คุณหญิงต้องถูกจับกุมคุมตัวไปไว้ที่ปากพระ จึงเหลือแต่กรมการเมืองถลาง คุณมุกและเมืองภูเก็จเทียนหลานชายวางแผนการสู้รบกับพม่า ถึงแม้บางเสียงจะให้หนีเข้าป่า แต่ในเวลานั้นเมืองถลางมีอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมสรรพคือ ปืนใหญ่กระสุน ๓นิ้ว ๔ นิ้ว ๕ นิ้ว ปืนคาบศิลาปืนสั้นอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งข้าวสารที่สั่งมาจากเมืองไทรบุรีและเกาะหมากปีนัง และขาดไม่ได้คือฝิ่นให้คนเฝ้าค่ายสูบ การวางแผนที่ดีด้วยความรอบคอบเมื่อคุณหญิงหนีการจับกุมลงมาจากปากพระ จึงวางแผนสู้ข้าศึก โดยให้คุณหญิงบัญชาการทัพทั่วไป ให้พระปลัดทองพูนรักษาว่าราชการเมือง
จากหนังสือของคุณหญิงจันมีไปถึง พระยาราชกปิตันเจ้าเมืองเกาะหมากปีนัง มีข้อความในหนังสือกล่าวว่า ครั้นจะเอาหนังสือเรียนแก่พระยาถลางๆ ป่วยหนักอยู่และซึ่งว่ามาค้าขาย ณ เมืองถลาง ขาดทุนหนักหนาช้านานแล้วนั้น เห็นธุระของลาโตกอยู่แต่หากลาโตกเมตตาเห็นดูข้าพเจ้าจึงเปลืองทุนเป็นอันมาก ทรมานอยู่ ด้วยความเห็นดู แลซึ่งว่าแต่งก็เป็นแล้วจะลากลับไปและมี(เรื่อง) ราวข่าวว่าพม่าตีเมืองถลาง ท่านพระยาถลางเจ็บหนักอยู่ทัพพม่ายกมาจริง ข้าพเจ้าจะได้พึ่งลาโตกเป็นหลักที่อยู่ต่อไป แลซึ่งว่าจะเอาดีบุกค้าผ้านั้น ท่านพระยาถลางยังเจ็บหนักมิได้ปรึกษาว่ากล่าวก่อน ถ้าท่านพระยาถลางคลายป่วยแล้วจะได้ปรึกษาว่ากล่าวตักเตือนให้ ซึ่งว่าเจ้ารัดจะไปเยือนขุนท่ามิให้ไปนั้น ข้าเจ้าจะให้ไปว่าหลวงยกกระบัตร ขุนท่าไม่ให้ยุดหน่วงไว้ ครั้นข้าเจ้าจะมาให้พบลาโตกนั้นเจ้าคุณยังเจ็บหนักอยู่จึงให้เมืองภูเกจลงมาลาโตกได้เห็นดูอยู่ก่อน ถ้าเจ้าคุณค่อยคลายป่วยขึ้น ข้าเจ้าจะลงมาให้พบลาโตก แลขันนั้นไม่แจ้งว่าขันอะไร ให้บอกแก่เมืองภูเกจให้แจ้งข้าเจ้าจะเอาลงมาให้ อนึ่งคนซึ่งรักษาบ้านเฝ้าค่ายนั้นขัดสนด้วยยาฝิ่นที่จะกิน ให้ลาโตกช่วยว่ากัปตันอีศกัสให้ยาฝิ่นเข้ามาสัก ๙ แทน ๑๐ แทน แล้วถ้าพ่อลาโตกจะขึ้นมาได้ชี่ชื่นขึ้นมาสักที หนังสือฉบับนี้เขียนขึ้นเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเส็ง
ข้างฝ่ายพม่า ใน พ.ศ. ๒๓๒๘ ยกทัพมาตีไทยทุกทาง ทางฝ่ายใต้ยกมาตีนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตะกั่วทุ่ง และเมืองถลาง กองทัพพม่ายกมาคราวนี้มีแกงหวุ่นแมงยี ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีพม่าเป็นแม่ทัพใหญ่เป็นทัพที่ ๑ ตั้งทัพที่เมืองมะริดแล้วให้ยี่หวุ่นคุมกองทัพเรือจำนวนพล ๓,๐๐๐ คน ยกลงมาตีเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่งก่อน แตกแล้วยกมาตีเมืองปากพระแตกแล้ว จึงให้ยกมาตีเมืองถลาง และก็เป็นไปตามแผน เมื่อปากพระแตกซึ่งตอนนั้นคุณหญิงจันถูกคุมขังอยู่ที่นั่น จึงได้หนีลงเรือกลับเมืองถลางดังจดหมายคุณหญิงจันถึงพระยาราชกปิตัน
ฝ่ายพระยาถลางพิมลขันธ์ซึ่งป่วยหนักอยู่ ก็ถึงแก่กรรม เมืองถลางจึงว่างเจ้าเมือง คงมีแต่พระปลัด ยกกระบัตร กรมการเมือง รวมทั้งคุณหญิงจัน คุณมุกน้องสาว เมืองภูเก็จเทียนบุตรชายคุณหญิงจัน เมื่อกองทัพพม่าเข้าตีเมืองตะกั่วทุ่ง กองลาดตระเวนของเมืองถลางทราบข่าวแล้ว เพราะทั้งสองเมืองมีเขตติดต่อกัน คุณหญิงจัน คุณมุก และกรมการเมืองถลาง ออกหลวงเพชรภักดีศรีพิชัยสงคราม ยกกระบัตร ออกหลวงพิพิธภักดีสมบัติ เจ้ากรมพระคลังเมืองถลางและพระปลัดทองพูน เมืองภูเก็จเทียนได้ร่วมประชุมวางแผนการตั้งทัพรับพม่า คงมาจอดที่ท่าตะเภาซึ่งเป็นท่าเรือที่สำคัญของเมืองถลางทางบ้านดอน และคงยกทัพเข้าตีทางหน้าเมือง เพราะทางด้านหลังเป็นที่กันดารลำบาก คุณหญิงจันจึงให้คนที่อาศัยแถวท่าเรือตะเภา บ้านดอนอพยพเข้าไปอยู่ในค่ายใหญ่ที่บ้านตะเคียน โดยจัดแบ่งเป็น ๒ ค่าย ตั้งอยู่ที่บ้านค่ายแห่งหนึ่งอันเป็นทางเดินติดต่อมาจากท่ามะพร้าว หากข้าศึกยกมาทางนี้จะได้ขวางได้ เพื่อทราบว่าพม่าไม่ได้ยกทัพมาทางนี้จึงแยกกองไปตั้งค่ายอยู่หลังวัดพระนางสร้าง โดยมีปืนใหญ่ประจำชื่อ แม่นางกลางเมือง กระบอกหนึ่ง อีกค่ายหนึ่งตั้งที่ทุ่งนางดัก มีปืนใหญ่ชื่อ พระพิรุณสังหาร กระบอกหนึ่ง ส่วนคุณหญิงจันเป็นผู้บัญชาการรบทั่ว ๆ ไป โดยมีคุณมุกเป็นผู้ช่วย
ค่ายพม่าอยู่ในระยะวิถีกระสุนปืนใหญ่และได้ยิงไปทุกวัน ได้รบพุ่งกันอยู่ราวเดือนเศษ ฝ่ายพม่าเจ็บป่วยล้มตายไป ๓๐๐ - ๔๐๐ คนเศษ กองทัพเมืองถลางจึงยกเข้าโจมตีทัพพม่าที่ปากช่อง พวกทหารพม่าลงเรือแล่นหนีไป เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๘ ตรงกับขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง
หลังจากเสร็จศึกสงครามแล้ว ทางเมืองถลางมีพระปลัดทองพูนเป็นผู้รักษาว่าราชการเมืองได้ทำใบบอกแจ้งเหตุการณ์ครั้งนี้ไปกราบทูลสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งยกทัพลงมาทางปักษ์ใต้เพื่อตีทัพพม่าขณะนั้นประทับอยู่ที่เมืองสงขลา โดยให้เมืองภูเก็จเทียนถือไปถวาย หนังสือใบบอกอีกฉบับหนึ่งส่งไปยังกรุงเทพมหานคร
ฝ่ายสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อเสร็จศึกแล้ว จึงเสด็จเข้ากรุงเทพฯเมื่อเดือน ๑๑ ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๔๘ อัฐศก พ.ศ. ๒๓๒๙จึงเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เพื่อกราบทูลถวายรายงานราชการสงครามหัวเมืองปักษ์ใต้ และผู้ที่จะได้รับบำเหน็จความชอบ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผู้ได้รับบำเหน็จความชอบ ให้ คุณหญิงจัน ภรรยาพระยาถลางคนก่อน เป็น ท้าวเทพกระษัตรี ให้คุณมุกน้องสาวเป็น ท้าวศรีสุนทร ให้พระปลัดทองพูนเป็น พระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามกำแหง พระยาถลางเจียดทองเสมอเสนาบดีศักดินา ๑๐๐๐๐ และถือว่าเป็น พระยาพานทองคนแรกของเมืองถลาง คนอื่นๆต่างก็ได้รับบรรดาศักดิ์สูงขึ้นถ้วนหน้า เข้าใจว่าน่าจะอยู่ในช่วงเดือนกันยายนหรือเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๓๒๙ คือเดือน ๑๑ ปีมะเมีย จ.ศ. ๑๑๔๘ อัฐศก รวมทั้งเมืองภูเก็จเทียนที่ได้เข้าไปเฝ้าสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่สงขลา ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระยาทุกขราช ผู้ช่วยราชการเมืองถลาง คือตำแหน่งพระยาปลัดเมืองถลาง ในขณะที่คุณมุกอายุได้ ๔๘ ปี
ในปีพ.ศ. ๒๓๓๐ ท้าวเทพกระษัตรีได้นำบุตรสาวคือคุณทอง บุตรชายคือ นายเนียม รวมทั้งท้าวศรีสุนทรน้องสาวไปด้วย คุณทองได้ถวายตัวเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เป็นเจ้าจอมมารดาทอง คือมีพระราชธิดาองค์หนึ่งพระนามว่า พระองค์เจ้าหญิงอุบล ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำปีกุน จ.ศ. ๑๑๕๓ ตรีศก ตรงกับวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๓๔ เป็นพระราชโอรสธิดาองค์ที่ ๓๑ ในจำนวน ๔๒ พระองค์ สิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ส่วนนายเนียมได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก
ส่วนท้าวศรีสุนทรได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯโดยมิได้กลับมาเมืองถลางอีก
นอกจากจะได้วีรกรรมที่ชาวภูเก็ต และชาวไทยจะได้ยกย่องเทิดทูน
แล้วยังได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์อันเป็นเกียรติประวัติ ที่บุคคลรุ่นหลังควรยึดเป็นเยี่ยงอย่าง นับเป็นสตรีตัวอย่างที่เป็นสตรีนักปกครองนักบริหาร และมีความกล้าหาญ ยากที่จะหาได้ และเพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจแก่ชนรุ่นหลังสืบไป ชาวเมืองภูเก็ตร่วมกับอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้จัดสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทรไว้ โดยให้ช่างจากกรมศิลปากรปั้นหล่อประดิษฐานบนแท่นเมื่อวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ขนาดโตกว่าคนธรรมดา ๒ เท่า ลักษณะการแต่งกายแบบไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือโจงกระเบน ผมทรงดอกกระทุ่ม สวมเสื้อแขนยาวมีสไบเฉียง มือถือดาบยืนคู่กัน และมีคำจารึกไว้ว่า
ท้าวเทพกระษัตรี (จัน) ท้าวศรีสุนทร (มุก)
ได้กระทำการป้องกันรักษาเมืองไว้เป็นสามารถ
เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘
มิให้ข้าศึกตีหักเอาบ้านเมือง
เป็นวีรกรรมอันควรแก่ชาวเมืองถลาง
ตลอดจนชาวไทยทั่วไปยกย่องสรรเสริญ
จึงสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นอนุสรณ์
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙
เมื่อวันอังคารที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๙ มกราคม ๒๕๕๒
Title : Thao Si Soonthon ( Mook )
: Somboon Kantakian
Credits : Somboon Kantakian
|