Bookmark and Share Add to Favorites  
ภูมิอากาศจังหวัดภูเก็ต
  ความเร็วลมทั่วโลก
  สภาพอากาศจังหวัดภูเก็ต
  Phuket Weather Today
  10 Day Weather Forcast for Phuket
  สภาพอากาศภาคใต้ฝั่งตัวันตก
  การเปลี่ยนองศา
แผ่นดินไหวและสึนามิ
  กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว
  เรื่องแผ่นดินไหวและสึนามิ
  คลื่นยักษ์สึนามิถล่มภูเก็ต - You Tube
  แผ่นดินไหวทั่วโลก (USGS)
รวมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภูเก็ต
  PHUKET HERITAGE
  ทำเนียบสายตระกูล ณ ระนอง
สถาบันอุดมศึกษาในภูเก็ต
  มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
  วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต
  วิทยาลัยสารพัดช่างภูเก็ต
โรงเรียนในภูเก็ต
  โรงเรียนดาวรุ่งวิทยา
  โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว
  โรงเรียนพุทธมงคลนิมิตร
  โรงเรียนอนุบาลภูเก็ต
  โรงเรียนราไวย์เรืองวิทย์
  โรงเรียนเทศบาลเมืองภูเก็ต
  โรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง
  โรงเรียนเชิงทะเลวิทยาคม
บริการวิชาการ
  สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ภูเก็ต
  สนง.วัฒนธรรมภูเก็ต
  สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.ภูเก็ต
ค้นข้อมูลจากหอสมุด
  Library of Congress
  The British Library
  มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  มหาวิทยาลัยมหิดล
ค้นเอกสาร
  พระราชบัญญัติ
  ราชกิจจานุเบกษา
สถาบันศาสนา
  @ พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี
เว็บเครือข่าย
  สมบูรณ์แก่นโน้ต
  สมบูรณ์อินโฟ
  ตระกูลแซ่หลิน
  สมบูรณ์แก่นโน้ต
.

พระยาวิชิตสงคราม ( ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต )

       

 

 

 

 

 

        พระยาวิชิตสงครามเป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้พัฒนาเมืองภูเก็ตให้เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่สี่ถึงต้นรัชกาลที่ห้า โดยเฉพาะตัวเมืองภูเก็ตในปัจจุบันด้วยวิธีการบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของภูเก็ต นั่นก็คือ แร่ดีบุกและวุลแฟรมให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลกลาง ที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความผันผวนของราคาแร่ดีบุกที่ตกต่ำลงในบางช่วงและนโยบายการจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้า ทำให้ผู้จัดเก็บภาษีปรับสภาพสถานการณ์ไม่ทัน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอันใหญ่หลวงแก่ครอบครัวของท่านในภายหลัง

       
พระยาวิชิตสงคราม บรรพบุรุษของท่านเดิมเป็นแขกชาวอินเดีย เป็นชาวเมืองมัดราสซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นทมิฬนาดู เดิมเมืองนี้เป็นของโปรตุเกสตั้งแต่ พ.ศ. ๑๕๒๒ ต่อมาเป็นของจักรวรรดิอังกฤษ เมื่อพ.ศ. ๑๖๓๙ บรรพบุรุษของท่านได้เดินทางไปมาค้าขายระหว่างประเทศอินเดียตอนใต้กับชายฝั่งทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดระนองเรื่อยลงไปถึงสตูลและมลายู ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ครั้งแรกได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่จังหวัดระนองด้วยการเลี้ยงวัวฝูง ต่อมาย้ายมาอยู่เมืองถลางได้รับราชการในฐานะล่าม จนได้บรรดาศักดิ์เป็นขุน น่าจะเป็นขุนวรวาทีฝ่ายกปิตัน ต่อมาได้เป็นหลวงล่ามหรือหลวงวรวาที หลวงล่ามได้ภรรยาเป็นชาวเมืองถลาง ท่านมีบุตรคนหนึ่งชื่อ เจิม ชาวเมืองถลางเรียกท่านว่า เจ๊ะมะ ต่อมา ท่านเจิมได้รับราชการและได้แต่งงานกับคุณแสง ผู้เป็นเครือญาติกับท้าวเทพกระษัตรี นายเจิมได้ย้ายไปรับราชการที่เมืองตะกั่วทุ่ง จนได้เป็นหลวงยกกระบัตร ดังจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ จ.ศ. ๑๑๗๓ ( พ.ศ. ๒๓๕๔ ) สารตรามา ณ วันศุกร์แรม๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะแม ตรีศกฯ กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “...ให้เอาหลวงยกกระบัตรเมืองตะกั่วทุ่ง เป็นพระวิเชียรภักดี ว่าราชการเมืองถลาง ออกมาส้องสุมชักชวนเกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎร ตั้งบ้านเรือนทำไร่นา ขุดร่อนแร่ดีบุก ณ ที่พังงาให้พร้อมมูลก่อน ถ้าได้เสบียงอาหาร ปืน กระสุนดินประสิว ซึ่งจะรักษาบ้านเมืองพร้อมมูลขึ้นเมื่อใด จึงจะให้ไปตั้ง ณ เกาะเมืองถลาง...” พร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งนายฤทธิ์มหาดเล็กชื่อ เริก หรือ ฤกษ์(นายศักดิ์ นายสิทธิ์ นายฤทธิ์ นายเดช เป็นบรรดาศักดิ์มีศักดินา ๘๐๐ ตำแหน่งมหาดเล็ก )บุตรเจ้าพระยาสุรินทราชา ( จันทร์ จันทโรจวงศ์ ) เป็นหลวงวิชิตภักดี ช่วยราชการ อีกด้วย เรื่องการสร้างเมืองถลางขึ้นใหม่ รัชกาลที่ ๓ ทรงรับสั่งถามพระยานครศรีธรรมราชว่า จะให้ทางเมืองนครศรีธรรมราชดำเนินการรับผิดชอบไปก่อนได้หรือไม่ เพราะต้องใช้เวลาฟื้นฟูทั้งตัวเมืองถลางและชาวเมืองถลางหลายปี ทางนครศรีธรรมราชยินดีรับและได้จัดการดูแลเมืองถลางอยู่หลายปี โดยมีพระวิเชียรภักดี ( เจิม ) เจ้าเมืองถลาง และหลวงวิเชียรภักดี ( เริก หรือ ฤกษ์ ) ผู้ช่วยราชการ เป็นผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ยังได้มอบให้หลวงวิเชียรภักดีไปควบคุมภาษีดีบุกที่เมืองภูเก็ตอีกตำแหน่งนึ่งด้วย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๕๔ ถึง พ.ศ. ๒๓๗๐ ต่อมาพระวิเชียรภักดี ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระถลาง (เจิม) เมื่อเมืองถลางเข้ารูปเข้ารอยเรียบร้อยแล้ว พระถลาง จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาถลาง หรือพระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม ( เจิม ) และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ.๒๓๘๐
       
พระวิเชียรภักดี (เจิม) มีภรรยาและบุตรหลายคน บุตรคนหนึ่งชื่อ แก้ว ข้าหลวงเมืองพังงาได้ขอไปเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายแก้ว เมื่อโตเป็นหนุ่มได้บวชเรียนหนังสือที่เมืองพังงา และเข้ารับราชการที่เมืองพังงา จนได้แต่งงานกับคุณแจ่ม ณ ตะกั่วทุ่งธิดาหลวงเมือง เมืองพังงา นายแก้วและคุณแจ่มซึ่งกำลังอยู่ในวัยหนุ่มสาว จึงเห็นว่าเมืองถลางซึ่งขณะนั้นกำลังสร้างบ้านแปงเมืองชึ้นมาใหม๋ หลังจากที่พม่าทำลายบ้านเมืองย่อยยับเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๒ จึงขออนุญาตผู้ใหญ่จากเมืองพังงาและแจ้งมายังเจ้าเมืองถลางคือ พระถลาง ( เจิม )ผู้เป็นบิดาว่าต้องการมารับราชการที่เมืองถลาง พระถลางเจิมจึงอนุญาตให้บุตรและบุตรสะใภ้ลงมายังเมืองถลาง แต่ท่านเห็นว่า เมืองภูเก็ต ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่บ้านท่าเรือ หลังจากที่พม่าทำลายเมืองนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๕๒ ยังไม่ได้รับการบูรณะรวบรวมผู้คนให้ทำการร่อนแร่ดีบุก พระถลางจึงแต่งตั้งนายแก้วลงมาประจำอยู่เมืองภูเก็ตท่าเรือ เพื่อช่วยหลวงวิเชียรภักดี ( เริก ) เก็บส่วยสาอากรฤชาธรรมเนียมต่างๆส่งไปยังเมืองถลางและกรุงเทพฯ
       
แต่เดิมครั้งสมัยท่านผู้หญิงจันหรือท้าวเทพกระษัตรี ท่านได้แต่งตั้งนายเทียน บุตรชายคนโตลงมาเป็นผู้เก็บส่วยสาอากรและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีบรรดาศักดิ์ในตำแหน่ง “เมืองภูเก็จ” บรรดาศักดิ์ชั้นนี้มีศักดินา ตั้งแต่ ๖๐๐ ๘๐๐ และ ๑๐๐๐ ต่อมา “เมืองภูเก็จ” ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาทุกขราช ปลัดเมืองถลาง และพระยาถลาง ( เทียน ) ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ หลังเสียเมือง พ.ศ. ๒๓๕๒ หลวงวิเชียรภักดีเป็นผู้เก็บภาษีดีบุก และได้เป็น พระภูเก็ต ( เริก ) เจ้าเมืองภูเก็ต จนถึง พ.ศ. ๒๓๘๐ พระยาถลาง(เจิม)ถึงแก่อนิจกรรม พระภูเก็ต(เริก) จึงได้เลื่อนตำแหน่งไปเป็นพระยาถลาง(เริก)
       
นายแก้วรับราชการดูแลเรื่องภาษีแร่ดีบุก จนเป็นที่ไว้วางใจแก่เจ้าเมืองถลาง ต่อมาได้มีการขยายการขุดแร่ดีบุกที่เมืองทุ่งคา คืออำเภอเมืองภูเก็ตในปัจจุบัน ชาวบ้านและชาวต่างประเทศตลอดจนชาวจีนจึงได้อพยพบางส่วนไปขุดร่อนหาแร่ดีบุกที่เมืองทุ่งคา โดยมีนายแก้วดูแลวางแผนควบคุมพื้นที่ในการทำเหมืองแร่ จากหมู่บ้านเล็กๆกลายเป็นตำบลและเมืองใหญ่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนภาษีแร่ดีบุกที่จะต้องส่งเมืองถลางและส่งเข้ากรุงก็มากขึ้นตามไปด้วย อาคารบ้านเรือนได้ก่อสร้างเป็นตึก การดูแลท่าเรือให้เรือใหญ่เข้ามาขนสินค้าได้สะดวก นายแก้วจึงต้องย้ายที่ทำการส่วนหนึ่งจากเมืองภูเก็ตมายังเมืองทุ่งคา และพัฒนาควบคู่ไปด้วย
       
ทางราชการ ณ กรุงเทพฯจึงยกให้เป็นเมืองทุ่งคาขึ้นตรงต่อเมืองถลาง และนายแก้วได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์" เป็นเจ้าเมืองภูเก็ต ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ภายหลังจากที่พระภูเก็ต(ฤทธิ์)ได้ย้ายไปเป็นพระยาถลางแล้ว พระภูเก็ต ( แก้ว ) ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อหากุลีและได้ชาวจีนไหหลำ จีนมาเก๊าจำนวน ๓๐๐ คนพาไปเป็นกรรมกรบุกเบิกการทำเหมืองแร่ดีบุกให้เอิกเกริกกว่าแต่ก่อน ที่มีคนเพียงสี่ห้าคนต่อเหมือง นอกจากนี้ท่านยังได้ขยายเขตการขุดหาแร่ดีบุกออกไปยังบ้านท่าแครง บ้านหล่อยูงนอกจากที่ตำบลทุ่งคาซึ่งบริเวณแถบนี้ สายแร่ดีบุกอยู่ไม่ลึก จึงสะดวกต่อการขุดแร่ให้ได้จำนวนมาก ท่านได้ให้คนจีนเหล่านี้จัดกั้นทำนบฝายกั้นน้ำแต่งคลองส่งน้ำเข้าเหมืองและถ่ายเทน้ำขุ่นจากการทำเหมืองลงทะเล แล้วยังขยายตลาด สร้างบ้านที่อยู่อาศัยออกไปอีกเป็นจำนวนมาก พระภูเก็ต(แก้ว) ยังได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นวัดกลางหรือวัดมงคลนิมิตร ซึ่งสมัยก่อนเป็นที่ทราบกันต่อๆมาว่า วัดนี้เป็นวัดของตระกูลรัตนดิลกเป็นผู้สร้าง เมื่อคนในตระกูลรัตนดิลกถึงแก่กรรมให้เผาศพที่วัดนี้ เช่น คุณนายวัน รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (บุตรสาวพระเทพธนพัฒนา กระต่าย ณ นคร เจ้าเมืองกระบี่ ) ภรรยา นายศักดิ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ( บุตรหลวงนรินทร์บริรักษ์ ดิษฐ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต)เมื่อเดือนมีนาคมพ.ศ.๒๔๙๙
       
พระภูเก็ต ( แก้ว ) มีภรรยา มีบุตรและธิดาหลายคน บุตรที่เกิดจากคุณแจ่ม ธิดาหลวงเมืองพังงาชื่อ ทัต ถือกำเนิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ ตรงกับปีวอก นายทัตได้ศึกษาเล่าเรียนจนแตกฉานภายหลังจากบวชแล้วสึกออกมารับราชการกับบิดา ส่วนบุตรคนที่สองชื่อ นายบุตร คนที่สามคือ หลวงนรินทร์บริรักษ์ ( ดิษฐ์) คนที่สี่คือ หลวงราชรองเมือง ( คง ) คนที่ห้าไม่ทราบชื่อ คนที่หกคือ นายร้อยโทเจิม ตั้งแต่คนที่สองถึงคนที่หกไม่ทราบชื่อมารดา คนที่เจ็ดมารดาชื่อพรมเนี่ยวคือ นายเดช ต่อมาเป็น พระรัตนดิลก  เป็นนายอำเภอเมืองทุ่งคา(ภูเก็ต) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ ฝ่ายนายทัตมื่ออายุพอสมควร ได้แต่งงานกับคุณเปี่ยม ธิดาพระยาถลาง ( ทับ ) เมืองถลาง คุณเปี่ยมมีฐานะเป็นเหลนของท้าวเทพกระษัตรี มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน ที่เติบใหญ่มีชื่อเสียงคือ คุณหญิงรื่น เป็นภรรยาของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ( หนูพร้อม ณ นคร ) แห่งเมืองนครศรีธรรมราช นายลำดวน ได้เป็นพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ เจ้าเมืองภูเก็ต คุณหญิงเลื่อม เป็นภรรยาพระยามนตรีสุริยวงศ์ ( ชื่น บุนนาค ) ซึ่งเป็นบุตรของพระยามนตรีสุริยวงศ์ ( ชุ่ม บุนนาค ) ที่สมุหพระกลาโหมฝ่ายเหนือ ส่วนคุณหญิงฟอง ภรรยาพระยาไกรเพชรรัตนสงคราม ( แฉ่ บุนนาค )มารดาเป็นอนุภรรยาไม่ทราบนาม ภรรยาอีกคนหนึ่งคือ คุณแจ่ม ณ ตะกั่วทุ่ง ธิดาพระยาบริสุทธิ์โลหภูมินทราธิบดี ( ถิน ณ ตะกั่วทุ่ง ) ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วทุ่ง ไม่ทราบนามบุตรธิดา
        
นายทัตได้รับราชการมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ จนได้เป็น หลวงมหาดไทย (ทัต) กรมการเมืองถลาง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น หลวงพิทักษ์ทวีป ช่วยราชการบิดาที่ภูเก็ต หลังจากที่พระภูเก็ต ( แก้ว ) บิดาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ จึงได้รับพระกรุณาฯเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ( ทัต ) แทนบิดา เมื่ออายุได้ ๓๕ ปี ในสมัยรัชกาลที่ ๔ และได้ดำเนินการพัฒนาเมืองภูเก็ตมาอย่างต่อเนื่องเจริญก้าวหน้า สามารถเก็บส่วยสาอากรได้มาก กลายเป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของเมืองหลวง และเป็นเมืองใหญ่เท่าเมืองถลาง ในปี พ.ศ. ๒๓๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองถลางซึ่งข้าหลวงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาถลาง กับเมืองภูเก็ตซึ่งข้าหลวงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระภูเก็ต ให้ไปขึ้นกับเมืองพังงาทั้งสองเมือง และโปรดฯให้เลื่อน พระภูเก็ตเป็น พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ( ทัต ) มีฐานะเกียรติยศเท่าเมืองถลาง เมื่อพระยาภูเก็ต ( ทัต )อายุได้ ๓๙ ปี ในปีพ.ศ. ๒๔๐๖ ส่วนผู้ช่วยราชการหรือรองเจ้าเมือง จากหลวงพิทักษ์ทวีปเป็นพระอาณาจักรบริบาล
       
เมื่อเมืองภูเก็ตเป็นเมืองที่สำคัญทางเศรษฐกิจมากกว่าเมืองถลาง เพราะทำเลที่ตั้งดีกว่า คือมีท่าเรือที่เรือใหญ่สามารถเข้ามาจอดได้สะดวก มีพ่อค้าต่างเมืองโดยเฉพาะจากสิงคโปร์ ปีนัง และฝรั่ง ฯลฯเข้ามาติดต่อกันมากขึ้น รายได้ภาษีอากรก็มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ภายหลังจากที่พระยาบริรักษ์ภูธร ( แสง ) เจ้าเมืองพังงาถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกเมืองภูเก็ตขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ดังสารตราในปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ตอนหนึ่ง ว่า “...พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ ( ทัต ) ทะนุบำรุงไพร่บ้านพลเมือง คิดอ่านชักชวนลูกค้าพาณิชย์ไทยจีนแขกมาตั้งบ้านเรือนก่อตึกร้าน ตั้งตลาดปสาน ให้ทำมาหากินมั่งคั่งบริบูรณ์ บ้านเมืองรุ่งเรืองขึ้นมาก ลูกค้าพาณิชย์ เรือสลูบ กำปั่น สำเภา เรือเสาใบไปมาค้าขายก็ชุกชุม เรียกเศษดีบุกปึก ดีบุกย่อย ภาษีพรรณผ้า จังกอบ และอากรดีบุก เป็นพระราชทรัพย์ของหลวง ถึงมรสุมงวดปีก็ส่งเข้าไปทูลเกล้าฯถวาย ไม่ได้ค้างล่วงจำนวนปีไปได้ ครั้งนี้มีความกตัญญูคิดถึงพระเดชพระคุณ จัดได้เพชรเม็ดใหญ่เท่าผลบัวอ่อนอันดีมีราคากับของอย่างนอกต่างๆ ให้พระภักดีศรีสงคราม ( เกต ) ปลัดเมืองภูเก็ตคุมเข้าไปทูลเกล้าฯ ถวายหาบำเหน็จความชอบใส่ตัวเป็นอันมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองภูเก็ตมาขึ้นกับกรุงเทพมหานคร...”
      
การขยายกิจการการทำเหมืองแร่และการขุดร่อนหาแร่ดีบุก จำเป็นต้องใช้คนมาก เช่นการเปิดหน้าดินในการทำเหมืองหาบ หรือเหมืองแล่น หรือเหมืองรูที่ขุดเป็นบ่อลึกแล้วเอาดินในชั้นแร่มาล้างจึงจะได้แร่ แต่กำลังคนในเมืองถลางและภูเก็ตมีไม่พอกับการขยายการทำเหมือง ดัง นั้นนายเหมืองหรือผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับแร่จึงต้องหาคนจีนจากเมืองจีนและคน จีนที่ได้อพยพมาจากแหลมมลายูมาก่อนแล้วเข้ามาทำงานเป็นจำนวนเป็นหมื่นคน ทำให้เมืองภูเก็ตมีสีสันผู้คนพลุกพล่าน มีมหรสพ คือ งิ้ว การเชิดหุ่นจีน ตลาดขายสินค้าพวกยาจีน อาหาร รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีแบบจีนตามเข้ามาด้วย คนจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน ) กว่างตง เกาะไหหลำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มทั้งที่เป็นชาวบ้านธรรมดาและคนที่มีการศึกษา บางส่วนเป็นสมาชิกของพรรคใต้ดินหรือสมาคมลับในจีน บางคนเมื่อมาถึงภูเก็ตภายหลังจึงละจากการเป็นกรรมกรเหมืองไปค้าขายโดยเช่าอาคารตึกแถวของพระยาภูเก็ต บางส่วนไปทำสวนผัก เป็นนายเหมืองรายย่อยและนายเหมืองที่มีเงินมาก ฯลฯ
        
อย่างไรก็ตาม นอกจากการขุดหาแร่ดีบุกแล้ว ยังมีการสร้างโรงงานสำหรับล้างแร่ คือแยกแร่ดีบุกออกจากขี้ดินทราย ขี้แร่ และการหลอมแร่ดีบุกเป็นก้อนคล้ายหัวร่มทางภาคเหนือ การหลอมแร่ดีบุกต้องใช้ไม้ฟืนและใช้คน โรงงานหลอมแร่อยู่แถวใกล้ท่าเรือ เพื่อสะดวกในการขนลงเรือสินค้า การหลอมแร่ดีบุกจะมีตะกรันคือเศษดีบุกที่ติดกับเบ้าหลอมที่ช่างหลอมจะต้องแคะออก โรงงานหลอมดีบุกที่เหลือเป็นเศษตะกรันจำนวนมากมาย ชาวภูเก็ตได้ขุดขายกันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ – ๒๕๒๕ แถวบริเวณถนนตะกั่วป่าริมคลองบางใหญ่หรืออ่าวเกไปจนถึงฝั่งคลองด้านตะวันออก และบริเวณหน้าศาลเจ้าปุดจ้อเป็นต้น
      
ข้างพวกกรรมกรเหมืองทางเจ้าของเหมืองจัดสร้างที่พักกั้นจากมุงจากเป็นห้องโถงยาวให้นอนเรียกว่า กงสี มีข้าวต้มข้าวสวยให้กินยกเว้นกับข้าวหากินเอาเอง แต่ละเหมืองจะมีเกือบร้อยหรือเป็นร้อยคน คนเหล่านี้ได้เงินแล้วส่งกลับไปเลี้ยงครอบครัวที่เมืองจีน บางคนมีภรรยาคนที่สองที่ภูเก็ต เมื่อคนหมู่มากหลายพันคนมาต่างแซ่ต่างถิ่นย่อมมีการกระทบกระทั่งกัน จนเกิดการยกพวกเข้าทำร้ายกัน การไม่พอใจค่าจ้างที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ที่ชิงดีชิงเด่นในกลุ่มเพื่อตนจะได้เป็น “ตั่วโก”หรือตั้วเฮียหรือพี่ใหญ่ พี่รอง พี่สาม พี่สี่ ฯลฯ ซึ่งในขณะนั้นเมืองภูเก็ตเป็นเมืองค้าขาย มิได้เตรียมกองทหารไว้สู้รบกับพม่าเหมือนแต่ก่อน จึงมีแต่กองโปลิศหรือตำรวจดูแลความสงบสุขของชาวบ้านเท่านั้น
        
เมื่อคนจีนไหลทะลักเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่สามและอาศัยทำมาหากินตั้งแต่กรุงเทพฯ มหาชัย แม่กลองเรื่อยลงไปตลอดแหลมมลายูของอังกฤษถึงสิงคโปร์ หัวหน้าจีนที่สิงคโปร์เริ่มก่อตั้งสมาคมลับที่เรียกว่า “ซันโฮหุย หรือ ซันเทียนหุย” หรือ เทียนตี้หุย หรือสมาคมไตรภาคี ที่หมายถึงความกลมกลืนของสามอย่างคือ ฟ้า ดิน มนุษย์ เมื่อทางการอังกฤษสอบสวนแล้วเห็นว่า สมาคมนี้ไม่มีพิษภัยต่อการปกครองของตน เพียงแต่ใช้ชื่อจากจีนเพื่อช่วยเหลือคนจีนที่เพิ่งเดินทางมาหางานทำเท่านั้น สมาคมนี้มีสมาชิกกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆตลอดแหลมมลายู ทำให้เกิดสมาคมอื่นๆอีกหลายสมาคม หรือหลายกงสี เช่น หยี่หิ้น หยี่ฮก ปุนเถ่ากง ตัวกงสี ชิวหลี่กือ ฯลฯ ซึ่งรวมเรียกว่าพวกอั้งยี่หรือ“หนังสือแดง”
      
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ได้เกิดการก่อความวุ่นวายขึ้นที่เมืองปีนัง เมื่อสมาคมธงแดง นับถือตัวแป๊ะกงหรือปุนเถ่ากง พวกนี้เป็นชาวฮกเกี้ยน กับสมาคมธงขาว หรือสมาคมหยี่หิ้น ซึ่งเป็นพวกกว่างตงหรือกวางตุ้ง จัดตั้งเป็นรูปกองทัพจับอาวุธเข้ารบรากันตีโล่ก้อกลอง เอาธงสามแฉกขนาดใหญ่นำหน้า เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ลุกลามไปหลายแห่งรวมทั้งที่ภูเก็ตด้วย
       
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ก่อนสิ้นรัชกาลที่ ๔ คนจีนในภูเก็ตได้จัดตั้งสาขากงสีขึ้น คือ กงสีหยี่หิ้น กงสีปุนเถ่ากง กงสีโฮ่เส้ง แต่ละสมาคมหรือกงสีจะมีระเบียบการเข้าเป็นสมาชิกที่เข้มงวด กงสีหยี่หิ้นหรือหยี่หิ้นเกียนเต๊ก เป็นพวกธงแดงสำนักตั้งอยู่ที่กะทู้มีสมาชิกประมาณ ๓๕๐๐ คน ส่วนกงสีปุนเถ่ากงตั้งอยู่แถวบางเหนียวและในตลาดเมืองภูเก็ต มีสมาชิกราว ๔๐๐๐ คน แต่ละกงสีมีตั่วโกหรือพี่ใหญ่ เป็นหัวหน้า เพื่อดูแลควบคุมลูกน้อง การรับคนเข้าไปเป็นกรรมการในเหมืองแร่แต่ละแห่งก็คงจะยกเอาสมาชิกทั้งชุดเข้าไปเพื่อง่ายต่อการควบคุม ต่อมากงสีทั้งสองเกิดทะเลาะกันเรื่องแย่งกระแสน้ำเข้าไปทำเหมืองแร่ จึงเกิดการสู้รบกันกลางเมือง ฝ่ายพระยาภูเก็ต ( ทัต ) เจ้าเมืองพร้อมด้วยกรมการเมืองต่างเข้าไปห้ามปราม ในขณะเดียวกันท่านได้ติดต่อไปยังหัวเมืองใกล้เคียงเพื่อขอกำลังตำรวจมาเสริม หากพวกอั้งยี่ยังก่อความวุ่นวายอีก พร้อมทั้งแจ้งเรื่องด่วนไปยังกรุงเทพฯ ทางหัวเมืองต่างส่งกำลังมาสนับสนุน ส่วนทางกรุงเทพฯได้ส่ง พระยาเทพประชุน ( ต่อมาคือเจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี -ท้วม บุนนาค ) ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม เป็นข้าหลวง ลงมายังภูเก็ต พระยาภูเก็ตพร้อมด้วยกรมการเมืองภูเก็ต และพระยาเทพประชุน ให้เชิญหัวหน้าจีนทั้งสองกลุ่มเข้ามาไกล่เกลี่ย ทางราชการต้องการให้พวกเขาทำมาหากินโดยสุจริต พวกเขายอมรับ ทางราชการจึงนำตัวหัวหน้ารวมเก้าคนเข้ากรุงเทพฯ แล้วโปรดฯให้หัวหน้าทั้งเก้าคนให้คำสัตย์สาบานว่าจะไม่คิดร้ายต่อทางราชการ ไม่ก่อเรื่องเดือดร้อนขึ้นอีก พวกเขาจึงเดินทางกลับมาภูเก็ตทำมาหากินต่อไป
        
ข้างทางกรุงเทพฯได้วางแผนให้พระยาภูเก็ต( ทัต ) กับพระยาเสนานุชิต ( นุช ) เจ้าเมืองตะกั่วป่าช่วยกันออกเงินซื้อเรือกลไฟสองลำเอาไว้ลาดตระเวนและช่วยเหลือเรือรบหลวงไว้ป้องกันเมื่อมีเหตุเกิดขึ้นอีกในอนาคต และใช้วิธีการปราบพวกอั้งยี่แบบที่อังกฤษใช้อยู่ในแหลมมลายูของอังกฤษ คือ แต่งตั้งตัวหัวหน้าอั้งยี่ให้มีบรรดาศักดิ์และอำนาจตรวจตราบังคับลูกน้อง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ ทางราชการจึงได้แต่งตั้งปลัดฝ่ายจีน ๒ คน คือ หลวงอำนาจสิงขร และหลวงอร่ามสาครเขต และแต่งตั้งนายอำเภอจีน ๔ คน คือ พระขจรจีนสกล หลวงพิทักษ์จีนประชา หลวงบำรุงจีนประเทศ และหลวงนิเทศจีนประชารักษ์ นอกจากนี้ยังได้ยกเอาเมืองถลางซึ่งขึ้นอยู่กับเมืองตะกั่วป่า มาขึ้นกับเมืองภูเก็ต เพื่อง่ายต่อการสั่งการบังคับบัญชาเมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ประจวบกับขณะนั้นเจ้าเมืองถลางถึงแก่อนิจกรรม ทางราชการจึงให้ พระภักดีศรีสงคราม ( เกต ) ปลัดเมืองภูเก็ต ไปเป็นพระยาถลาง ( เกต ) ขึ้นตรงต่อพระยาภูเก็ต ( ทัต ) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒

 

 

 

 

 


  ตราประทับของพระยาวิชิตสงคราม ดูเป็นฉัตรห้าชั้น   

         

          ในปีเดียวกันนี้ พระยาภูเก็ต ( ทัต ) ได้รับบำเหน็จความชอบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็น พระยาวิชิตสงครามรามฤทธิเดช โลหเกษตรารักษ พิทักษสยามรัฐสีมา มาตยานุชิตพิพิธภักดี พิริยพาหะ จางวาง ( วิเศษ )เมืองภูเก็ต ถือศักดินา ๑๐๐๐๐ มีเครื่องยศเพียงเท่า เสนาบดี คือ กระบี่บั้งทองเล่มหนึ่ง ประคำทองสายหนึ่ง ดวงตราพระจุลจอมเกล้าชั้น ๒ ดวงหนึ่ง พานทองคำใบใหญ่ใบหนึ่ง พานจอกหมากทองคำ ๒ จอก ตลับยาทองคำ ๒ ตลับ ตลับทองคำใส่สีผึ้งตลับหนึ่ง ซองพลูทองคำซองหนึ่ง ซองบุหรี่ทองคำซองหนึ่ง มีดเจียนหมากด้ามหุ้มทองคำเล่มหนึ่ง คนโททองคำใบหนึ่ง กระโถนทองคำใบหนึ่ง หมวกประพาสใบหนึ่ง เสื้อประพาสตัวหนึ่ง แพรขลิบโพกผืนหนึ่ง สัปทนหนึ่ง แคร่หลังหนึ่ง รวมทั้งหมด๑๙สิ่งซึ่งเป็นพระยาพานทองเมื่ออายุได้๔๕ปี
        จากการที่ชาวจีนแต่ละกงสีมักทะเลาะวิวาทยกพวกกันเข้าทำร้ายต่อกันเนืองๆ ทำให้บ้านเมืองไม่สู้จะสงบนักถึงแม้จะมีหัวหน้าต้นแซ่ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดูแลควบคุมก็ตาม การควบคุมคนจีนวัยกำลังทำงานเหล่านี้บางครั้งตัวหัวหน้าไม่ทราบว่าลูกน้องยกกำลังกันเข้าฆ่าฟันตายหลายสิบคน ซึ่งย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าเมืองคือ พระยาภูเก็ตที่จะต้องดูแลเอาใจใส่ ประมาณหลังจาก พ.ศ. ๒๔๑๖ เป็นต้นมาสุขภาพร่างกายของพระยาวิชิตสงครามไม่สู้จะดีนักเริ่มป่วยกระเสาะกระแสะ ดวงตาเริ่มพร่ามัว ทำให้การว่าราชการย่อหย่อนลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระอาณาจักรบริบาล ( ลำดวน ) บุตรชายซึ่งอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยราชการอากรดีบุกเมืองภูเก็ต เป็น พระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ เป็นผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ต ถือศักดินา ๓๐๐๐ ตั้งแต่วันจันทร์ขึ้นสามค่ำเดือน ๘ ปีกุนสัปตศก ศักราช ๑๒๓๗ ( พ.ศ. ๒๔๑๘ ) ในขณะที่พระยาวิชิตสงครามอายุได้ ๕๑ ปี

        ในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ เมืองภูเก็ตมีคนจีนเข้ามาทำมาหากินหลายหมื่นคน แต่ส่วนใหญ่จะหมุนเวียนกันกลับไปเมืองจีนในช่วงตรุษจีน  กง สีปุนเถ่ากงซึ่งอยู่ในตัวเมืองภูเก็ตมักหาว่าพระยาวิชิตสงครามเข้าข้างพวกกง สีหยี่หิ้นที่กะทู้และมักจะช่วยพวกเขาเสมอเมื่อมีการสู้รบกันระหว่างสองกงสี  พวกนี้หนีการจับกุมมาจากระนองแล้วรวมตัวกันจะเข้ายึดตัวเมืองภูเก็ต แต่หัวหน้าต้นแซ่ไม่รู้เรื่อง

        ในเดือนสี่ ขึ้นสิบสามค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙  เวลาบ่าย  กะลาสีเรือเมาสุราเกิดทะเลาะกับคนจีนที่ในตลาดเมืองภูเก็ต  แต่หัวหน้ากะลาสีเรียกลงเรือไปเสียก่อน จนเวลาค่ำพวกกะลาสีสองคนขึ้นมาเที่ยวในตลาด  พวกคนจีนเห็นดังนั้นจึงชวนพรรคพวกเข้ารุมทุบตีกะลาสีปางตาย ฝ่ายตำรวจเข้าระงับเหตุพร้อมกับรวบตัวคนจีนที่ทำร้ายแล้วพาไปโรงพัก  พวกที่เหลือไม่พอใจ ต่างลุกฮือขึ้นไปชวนพวกมากว่า ๓๐๐ คนถืออาวุธเข้ารื้อโรงพัก เผาวัดและเข้าปล้นบ้านเรือนคนไทย  คนไทยต่างหนีเอาตัวรอด  ข้างคนจีนเมื่อรวมพวกได้กว่า ๒๐๐ คนหมายจะเข้าปล้นสำนักงานรัฐบาลและบ้านพระยาวิชิตสงครามที่บางงั่ว

        ขณะนั้นพระยาวิชิตสงครามที่กำลังป่วย และบุตรเขยของท่าน คือ เจ้าหมื่นเสมอใจราช ( ชื่น บุนนาค ) ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองตรังและข้าหลวงหัวเมืองฝ่ายตะวันตก  จึงรวมไพร่พลคนไทยปลดนักโทษจากเรือนจำ ตำรวจอีกได้ประมาณ ๑๐๐ คน พร้อมกับทหารเรือในเรือรบสองลำที่ทอดสมออยู่ในอ่าวอีก ๑๐๐ คน  จัดการเอาปืนใหญ่จุกช่องทั้งสี่ทิศ  พร้อมกับโทรเลขถึงกรุงเทพฯ  มีหนังสือไปยังหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกให้ยกกำลังมาช่วย  ในขณะเดียวกันได้เรียกหัวหน้าต้นแซ่มาประชุมตกลง

        ข้างทางกรุงเทพฯได้ส่งเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ( ชาย บุนนาค ) ข้าหลวงใหญ่ปราบปรามอั้งยี่โดยเฉพาะคุมเรือรบและเรือสลูปลงมายังภูเก็ต  ด้วยเกรงว่าเจ้าหมื่นเสมอใจราช ( ชื่น บุนนาค ) จะวางแผนต่อสู้กับพวกอั้งยี่ไม่ได้  เมื่อได้รวมพลทั้งหลายเข้าได้พอสมควรแล้วจึงประกาศเอาโทษแก่ผู้ประพฤติร้าย  ข้างหัวหน้าต้นแซ่ต่างเข้ามาขอโทษและกลับไปทำมาหากินตามเดิม  แต่ยังมีคนจีนหลายกลุ่มที่ดื้อรั้นไม่พอใจ  จึงรวมพวกกันออกไปปล้นบ้านเรือนราษฎรรอบนอก  ทำให้เกิดจลาจลขึ้นทั่วเกาะภูเก็ต  มีแห่งเดียวที่รักษาตำบลของตนเองไว้ได้คือ บ้านฉลองซึ่งมีหลวงพ่อแช่มเจ้าวัดและชาวบ้านฉลอง

        เมื่อเหตุการณ์สงบลง  ต่างได้รับบำเหน็จความชอบคือ เจ้าหมื่นเสมอใจราช ( ชื่น บุนนาค ) เป็น พระยามนตรีสุริยวงศ์  เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ( ชาย บุนนาค ) เป็น พระยาประภากรวงศ์ ในตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก ได้รับพระราชทานพานทองเสมอทั้งสองคน ส่วนคนอื่นๆได้รับบำเหน็จความชอบตามลำดับทุกคน

 

กรณีอั้งยี่ พ.ศ. ๒๔๑๙

        สาเหตุของการเกิดกบฏอั้งยี่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ และลุกลามไปอีกหลายปีนั้น สรุปได้ดังนี้

        ๑.  เมื่อกงสีหยี่หิ้นกับกงสีปุนเถ่ากงเกิดทะเลาะวิวาทกันบ่อยเข้า  บางช่วงพวกกงสีปุนเถ่ากงที่ตลาดเมืองภูเก็ตปิดถนนไม่ให้ส่งเครื่องอุปโภคบริโภคไปกะทู้ของพวกกงสีหยี่หิ้น  โดยเฉพาะข้าวสาร  พระยาวิชิตสงครามจึงให้ขนข้าวสารลงเรือไปขึ้นที่หาดป่าตองแล้วลำเลียงด้วยช้างข้ามภูเขาไปยังกะทู้  ทำให้พวกกงสีปุนเถ่ากงไม่พอใจ

        ๒.   การ ตัดสินคดีความต่างๆ พวกกงสีปุนเถ่ากงหาว่า พระยาวิชิตสงครามไม่ให้ความยุติธรรมกับพรรคพวกของตน และพยายามช่วยพวกกงสีเกียนเต็กหรือหยี่หิ้น  แต่ไม่ช่วยพวกตน

        ๓.   ราคาดีบุกตกต่ำ ราคาดีบุกในตลาดลอนดอนตกต่ำลง  ทำให้ราคาดีบุกเมืองปีนัง สิงคโปร์ ภูเก็ตพลอยตกต่ำไปด้วย

        ๔.   การเก็บภาษีผูกขาดของรัฐบาลกลางจากพระยาวิชิตสงครามเป็นรายปี  เมื่อราคาดีบุกตกต่ำลง  เงินรายได้จากภาษีดีบุกก็ตกต่ำลงไปด้วย  แต่พระยาวิชิตสงครามจะต้องจ่ายภาษีรายปีให้รัฐบาลกลางเท่าเดิม

        ๕.   ระบบการจัดเก็บภาษีดีบุกเปลี่ยนแปลงไป คือ รัฐบาลกลางมีนโยบายที่จะให้คนที่ประมูลการจัดเก็บภาษีได้  จะต้องส่งเงินล่วงหน้า ๓ เดือน  และต่อไปเดือนละ ๒ ครั้ง และห้ามส่งเป็นของวัตถุ ต้องส่งเป็นเงินเหรียญเท่านั้น  ทำให้พระยาวิชิตสงครามและนายเหมืองหุ้นส่วนของตนเกิดความยุ่งยากขึ้นทันที  เมื่อกรรมกรจีนต้องการเงินค่าจ้างโดยเฉพาะในช่วงตรุษจีน  ซึ่งพวกเขาจะกลับไปเมืองจีนหรือส่งเงินไปบ้าน  แต่เงินหมุนเวียนของพระยาวิชิตสงครามและหุ้นส่วนนายเหมืองมีไม่พอที่จะจ่ายให้กรรมกรเหล่านั้น

        ๖.   ราคาประมูลภาษีอากรต่อปีสูงเกินไป  คือ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔  เพียงปีละ ๑๗,๓๖๐. บาท  แต่ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ – ๒๔๑๙  ได้มีการประมูลสูงขึ้นเป็นปีละ  ๔๘๐,๐๐๐. บาท  โดยพระยาอัษฎงคตทิศรักษา ( ตันกิมเจ๋ง )  ได้ประมูลแข่งกับพระยาวิชิตสงครามในราคาดังกล่าว  พระยาวิชิตสงครามจึงต้องสู้ราคาดังกล่าวกับพระยาอัษฎงคต  จึงทำให้พระยาวิชิตสงครามต้องส่งเงินงวดล่วงหน้า ๓ เดือน เป็นจำนวน ๑๒๐,๐๐๐. บาท และเงินงวดต่อไปงวดละ  ๔๐,๐๐๐. บาท  พระยาวิชิตสงครามจึงต้องเอาเงินค่าจ้างกรรมกรจีน ไปจ่ายภาษี  เมื่อความลับรั่วไหลออกไปทำให้กรรมกรจีนไม่พอใจ

        ๗.   พวกกรรมกรจีนจังหวัดระนองเมื่อถึงวันตรุษจีน ใน พ.ศ. ๒๔๑๙  ขอให้นายเหมืองจ่ายเงินที่คงค้างกับพวกตนให้หมดตามประเพณีจีน  แต่นายเหมืองที่ระนองไม่มีจ่าย  พวกกรรมกรจีนจึงก่อการจลาจลขึ้น  โดยเฉพาะพวกสาขากงสีปุนเถ่ากงฆ่านายเหมืองตาย แล้วหลบหนีไปทางเมืองหลังสวนชุมพร  ข้างนายด่านเห็นผิดสังเกตจึงจับตัวส่งเมืองระนอง  ข้างพรรคพวกทางระนองเข้าแย่งตัวผู้ร้ายแล้วฆ่านายด่านตาย เมื่อเห็นความผิดจึงพากันหลบหนีมาภูเก็ตประมาณ ๓๐๐ – ๔๐๐ คน โดยแทรกซึมเข้าไปอาศัยอยู่กับสมาชิกสาขากงสีปุนเถ่ากงที่ในเมืองภูเก็ต  พวกนี้วางแผนที่จะเข้าปล้นศาลารัฐบาลและบ้านเรือนราษฎรเพื่อลบล้างความผิดทางอาญาของพวกตน

        ๘.   ในช่วงปี พ.ศ.  ๒๔๑๖ – ๒๔๑๘  พระยาอนุกูลสยามกิจได้ประมูลภาษีดีบุก  ประมูลเงินขึ้นปีละ ๒๐๒,๖๔๐. บาท  รวมเป็น ๓๒๐,๐๐๐. บาท พระยาวิชิตสงครามจึงต้องสู้ราคากับพระยาอนุกูลสยามกิจ  จึงเป็นเหตุให้เมืองภูเก็ตต้องเสียภาษีให้รัฐบาลกลางปีละ ๔๘๐,๐๐๐. บาท  หัวเมืองชายทะเลตะวันตกก็ต้องขึ้นภาษีตามไปด้วย

        อย่างไรก็ตาม การประมูลภาษีตามที่พระยาอัษฎงคตทิศรักษาเคยประมูลไว้  เมื่อถึงเวลาที่พระยาภูเก็ต (ลำดวน ) ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ และขอถอนตัวออกจากการประมูล  แต่พระยาอัษฎงคตก็ไม่ได้เข้ามาประมูลต่อ  ทางรัฐบาลกลางจึงมอบให้พระยาภูเก็ตจัดการต่อไปโดยให้ร้อยละ ๕

        ๙.   พวกคนจีนนายเหมืองที่มีเงินทุนน้อย  จึงขุดแร่ดีบุกได้ไม่มาก  ทางรัฐบาลต้องการภาษีให้ได้มาก  จึงอนุมัติให้พระยาวิชิตสงครามเบิกภาษีของหลวงในแต่ละปีส่วนหนึ่งออกมาเป็นเงินหมุนเวียนให้พวกนายเหมืองจีนกู้ยืมไปลงทุน  แต่ทว่าราคาดีบุกตกต่ำ  ราคาข้าวสารกลับแพงขึ้น  ภาวะเศรษฐกิจของภูเก็ตกลับซบเซาลง  พวกนายเหมืองบางคนต้องปิดกิจการเหมือง  ทำให้คนจีนตกงานเป็นจำนวนมาก ทำให้พวกเขาเดือดร้อนไปตามๆกัน

        ๑๐.   เมื่อภาษีที่ทางรัฐบาลกลางเรียกเก็บสูงขึ้นทุกปี แต่การจัดเก็บภาษีดีบุกกลับตกต่ำ  พระยาวิชิตสงครามจึงต้องหาช่องทางเพิ่มภาษีอย่างอื่นไปด้วย  และในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ พระยาภูเก็ต(ลำดวน) ได้ประกาศขึ้นราคาผูกปี้คนจีนจากเดิมคนละ ๔๐ เซ็นต์ เป็น ๒ เหรียญ ๖๐ เซ็นต์  ทำให้กรรมกรจีนที่ตกงานและมีรายได้น้อยเดือดร้อนมากขึ้น  ความแค้นต่อเจ้าเมืองจึงเพิ่มมากขึ้นไปอีก  จึงรวมตัวกันวางแผนก่อการกบฏ

        ๑๑.   ในปี พ.ศ.  ๒๔๑๙  พระยาภูเก็ต(ลำดวน)ได้ประกาศอีกว่า จะไม่ลงทุนให้กับพวกนายเหมืองที่มีทุนน้อยมากู้ยืมอีกต่อไป  ทำให้นายเหมืองทุนน้อยที่เคยกู้เงินจากราชการไม่กล้าเสี่ยงลงทุนทำเหมือง  สร้างความแค้นเคืองให้กับกลุ่มนายทุนเหมืองเหล่านี้  แต่นายเหมืองที่มีทุนมากก็ไม่เดือดร้อน

        สรุป ได้ว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น น่าจะมาจากการแข่งขันกันประมูลภาษีที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปีอย่างผิดสังเกต ทำให้ผู้ที่ประมูลได้ต้องขึ้นภาษีอย่างอื่นมาชดเชย  ราคาดีบุกตกต่ำ เศรษฐกิจซบเซา  กิจการการทำเหมืองแร่ดีบุกหยุดชะงัก คนจีนที่เดินทางเข้ามาหลายหมื่นคนตกงาน  การบริหารจัดการด้านการเงินและธุรกิจของพระยาภูเก็ต(ลำดวน)ไม่คล่องเหมือนพระยาวิชิตสงคราม  รัฐบาลกลางเร่งรัดเก็บเงินภาษีจากรายปีเป็นรายเดือน  เมื่อเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจขึ้นก็ไม่ได้ลดหย่อนการเก็บภาษี  เป็นต้น

        พระยาวิชิตสงคราม ( ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ.  ๒๔๒๑ ปีขาล ภายหลังจากกบฏอั้งยี่สามปี ด้วยโรคเรื้อรังมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๑๖  และจักษุพร่ามัว

 

สกุล “รัตนดิลก ณ ภูเก็ต”

       

        ฝ่ายอำมาตย์โท  หลวงวรเทศภักดี (เดช)  ผู้เป็นน้องชายของพระยาวิชิตสงคราม(ทัต)  ได้ทำหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาฯขอพระราชทานนามสกุล  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามสกุลให้ว่า  “รัตนดิลก”  ประกาศเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๘  เป็นครั้งที่ ๓๑

        ที่มาของนามสกุลพระราชทาน น่าจะมาจากนามบรรพบุรุษของผู้ขอพระราชทาน คือ        พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม (เจิม) พระยาถลาง  ผู้ก่อสร้างบุกเบิกเมืองถลางขึ้นมาใหม่  ภายหลังจากที่พม่าเผาผลาญหมดสิ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒  พระภูเก็ต (แก้ว) บุตรพระยาถลาง(เจิม) เป็นผู้บุกเบิกทำเหมืองแร่ดีบุกแบบธุรกิจขนาดใหญ่สร้างเมืองภูเก็ตให้เจริญรุ่งเรือง

       พระภูเก็จ (แก้ว)  คำว่า  “แก้ว”  หมายถึง  “รตน”

       พระยาถลาง (เจิม)  คำว่า  “เจิม”  จาก  แปลก สนธิรักษ์ ( พจนานุกรมบาลี – ไทย, ๒๕๐๖ : ๑๓๒ )  “ติลก  นาม. เจิม, ประ, คุณ, ตกกระ”  ดังนั้นคำว่า  “เจิม”  หมายถึง  “ติลก”  อ่านว่า  ติละกะ

         จากคำว่า  แก้ว + เจิม =  รตน + ติลก  เป็น 

         รัตนดิลก

        คุณตาเสริม (ดำ) รัตนดิลก ณ ภูเก็ต เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า  คำว่า รัตนดิลก หมายถึง ส่วน (แป้ง,แก้ว) ที่เจิมหน้าผากของชาวอินเดีย ซึ่งเข้าเค้าว่าเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากอินเดียอีกด้วย

        ต่อมาอำมาตย์เอก หลวงวรเทศภักดี (เดช รัตนดิลก)  กรมการพิเศษมณฑลภูเก็ต  ได้ทูลเกล้าฯถวายหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า  วงศ์สกุลของหลวงวรเทศภักดี  เป็นตระกูลที่สืบเนื่องมาจากข้าราชการมณฑลภูเก็ต  และมีนิวาสสถานตั้งบ้านเรือนอยู่ในมณฑลภูเก็ตตั้งแต่เดิมมาจนบัดนี้  จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเพิ่มนาม  “ณ ภูเก็ต”  ต่อท้ายนามสกุล  “รัตนดิลก”  เป็น  “รัตนดิลก ณ ภูเก็ต”  และขอพระบรมราชานุญาตให้หลานชายของหลวงวรเทศภักดีสามคน  คือ  อำมาตย์ตรี  หลวงประสานสรรพเหตุ (เอี้ยว รัตนดิลก) ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสตูลหนึ่ง  รองอำมาตย์โท  ขุนเขตขันธ์ภักดี (แนบ รัตนดิลก) นายอำเภอจังหวัดสตูลหนึ่ง รองอำมาตย์ตรี ขุนนิเทศทาวันการ (ดิษฐ์ รัตนดิลก) ผู้ช่วยเจ้ากรมป่าไม้มณฑลภูเก็ตหนึ่ง  ใช้นามสกุล  “รัตนดิลก ณ ภูเก็ต”  ได้ทรงพระบรมราชานุญาตให้ใช้นาม “ณ ภูเก็ต”  ต่อท้ายนามสกุล “รัตนดิลก”  เป็น  “รัตนดิลก ณ ภูเก็ต”  ตั้งแต่วันประกาศลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา  เล่ม ๓๓ แผนกราชกิจจา  วันที่  ๒๔  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๔๕๙ หน้า  ๘๓๑

                    คุณหญิงเลื่อมบุตรีพระยาวิชิตสงครามได้ติดตามสามีคือพระยามนตรีสุริยวงศ์(ชื่น บุนนาค)เข้ากรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสามี ทรงแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังบางปะอิน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระองค์ทรงครองราชย์ครบ ๒๕ ปี จึงโปรดฯให้บรรดาพระบรมวงศานุงวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จ แต่งประทีปโคมไฟประดับประดาบริเวณพระราชวังที่นั่น เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลให้พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ตลอดจนขุนนางที่ได้กระทำคุณงามความดีให้แก่แผ่นดิน ตามรายพระนามและนามในพระราชพงศาวดาร พระยาวิชิตสงครามมีชื่อผู้ได้รับบำเหน็จความชอบอยู่ด้วย คุณหญิงเลื่อมจึงขอพระกรุณาจากสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์คำโคลงประวัติพระยาวิชิตสงครามติดไว้ที่โคมไฟด้วย และได้ทรงพระกรุณาแต่งที่มีบางคำเป็นสำเนียงชาวภูเก็ตพูด  คำโคลงนั้นว่า

 

                               เกาะถลางข้างด้านประ        วันเอาะ

                         ภูเก็ตเป็นบ้านเนาะ                   รกร้าง

                         พระภูเก็ตทัดเสาะ                     แสวงแร่

                         พบที่ทุ่งคาสร้าง                       ที่บ้านทำเหมือง

                              เอาภารการเติบตั้ง               เมืองตึก  เต็มแฮ

                         เฮินเอนกเจ๊กอึกทึก                  ค่ำเช้า

                         เภาไฟรถรัถคึก                        คับคั่ง

                         เพราะพระภูเก็ตเป็นเค้า             แก่บ้านเมืองเจริญ

                             สมพระไทยธิเบศร์                จอมสยาม

                         พระยาวิชิตสงคราม                   ท่านตั้ง

                         พานทองและตราความ               ชอบพระราช  ทานแฮ

                         เลื่องชื่อฤายศทั้ง                      ปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ

 

* * * * * * * * * *

 

อนุสรณ์พระยาวิชิตสงคราม ( ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต )

       

๑.  ถนนวิชิตสงคราม

        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓  ในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๓  ได้เสด็จพระราชดำเนินจากที่ประทับตำบลสามกอง ผ่านตัวเมืองภูเก็ตถึงหัวถนนทางที่จะไปอำเภอกะทู้  เจ้าหน้าที่ได้จัดปะรำพิธีไว้ที่หัวถนน  ได้อาราธนาพระอริกระวี เจ้าคณะมณฑลภูเก็ตเป็นประธาน  หม่อมเจ้าประดิพัทธ์ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานการสร้างถนนสายนี้  แล้วกราบบังคมทูลเชิญเสด็จเปิดถนนสายไปอำเภอกะทู้  ทรงมีพระราชดำรัสตอบ  แล้วพระราชทานนามถนนสายนี้ว่า  “ถนนวิชิตสงคราม”  ตามนามพระยาวิชิตสงคราม (ทัต)ผู้ได้พัฒนาบุกเบิกเมืองภูเก็ตและกะทู้ให้เจริญรุ่งเรือง  ทรงชักผ้าคลุมป้ายนามถนน พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา  ปี่พาทย์ประโคม  แล้วทรงพระราชดำเนินไปตัดแพรแถบที่ขึงขวางถนน  เสด็จขึ้นทรงรถยนต์ขับไปตามถนนวิชิตสงครามผ่านวัดเก็ตโฮ่  ตรงสามแยกเลี้ยวซ้ายไปบ้านทุ่งทอง ผ่านทางเข้าน้ำตกจนถึงตลาดกะทู้  แล้วมาบรรจบที่สามแยกวัดเก็ตโฮ่ระยะทางประมาณ ๒๐๐ เส้น

 

๒.   โรงเรียนวิชิตสงคราม

        โรงเรียนวิชิตสงครามตั้งอยู่ถนนเจ้าฟ้าตะวันตก ในเขตเทศบาลตำบลวิชิต ใกล้สี่แยกทางที่จะไปอำเภอกะทู้  เดิมเป็นโรงเรียนประชาบาลบ้านระเงง  ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐  สอนตั้งแต่ชั้น ประถมปี่ที่ ๑ ถึง ประถมปีที่๔ โดยเช่าที่ดินของเอกชน  มีนายชั้น วรวิฑูร เป็นครูใหญ่  และได้ตั้งชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนวิชิตสงคราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระยาวิชิตสงคราม  ปัจจุบันเป็นโรงเรียนขยายโอกาสสอนถึงชั้นมัธยมปีที่ ๖ มีนักเรียนกว่าพันคน

 

๓.   เทศบาลตำบลวิชิต

        พื้นที่อำเภอเมืองภูเก็ตมี ๘ ตำบล และมีสองตำบลที่ตั้งชื่อตำบลเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ผู้ปกครองเมืองภูเก็ต คือ ตำบลรัษฎา  อนุสรณ์แด่ มหาอำมาตย์โท พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี  ( คอซิมบี้ ณ ระนอง )  ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต และตำบลวิชิต  เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่  พระยาวิชิตสงคราม ( ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) จางวางเมืองภูเก็ต และผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ต  องค์การ บริหารส่วนตำบลวิชิตตั้งอยู่ที่หมู่ ๑ ตำบลวิชิต ถนนเจ้าฟ้าตะวันออกติดกับวัดเทพนิมิตร ( วัดแหลมชั่น ) อำเภอเมืองภูเก็ต มี ๙ หมู่บ้าน  องค์การบริหารส่วนตำบลวิชิตได้รับการยกฐานะเป็น “เทศบาลตำบลวิชิต”  เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐

 

๔.   วัดวิชิตสังฆาราม

         วัด วิชิตสังฆาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าวัดควน เพราะตั้งอยู่บนที่ดินที่เป็นเนินหรือควน ที่ดินบริเวณนี้เดิมเป็นที่ดินของพระยาวิชิตสงครามภายหลังต้องมอบให้ราชการ

          วัดวิชิตสังฆารามตั้งอยู่ถนนนริศร  ในเขตบริเวณที่ทำการของหน่วยราชการต่างๆ  วัดนี้จึงเป็นอนุสรณ์อีกแห่งหนึ่งของพระยาวิชิตสงคราม       

 

 

๕.   บ้านพระยาวิชิตสงคราม

        บ้านพระยาวิชิตสงคราม  ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเรือ    ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง ภูเก็ต  กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ  ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  ๑๐๒ ตอนที่ ๑๒๘  ลงวันที่ ๑๗ กันยายน  พ.ศ. ๒๕๒๘  มีเนื้อที่  ๒๓ ไร่ ๑ งาน ๑๔ ตารางวา  ทางกรมศิลปากรได้บูรณะเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑

        จากจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ ( พ.ศ. ๒๔๕๓ ) ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า  “...ขากลับแวะทอดพระเนตรบ้านท่านพระยาวิชิตสงคราม จางวางเมืองภูเก็ต  ที่ตำบลท่าเรือ บ้านนี้ท่านพระยาวิชิตไปสร้างขึ้นเมื่อครั้งจีนกระทำการตั้วเหี่ยขึ้นที่เมืองภูเก็ต  ท่านพระยาวิชิตเห็นว่าอยู่ในเมืองภูเก็ตใกล้ภัยอันตรายนัก  จึงไปสร้างบ้านขึ้นที่ท่าเรือสำหรับเป็นที่เลี่ยงไปอยู่  มีกำแพงแข็งแรงราวกับกำแพงเมือง  มีใบเสมาตัดสี่เหลี่ยม มีป้อมวางเป็นระยะๆรอบ เตรียมรบเจ๊กอย่างแข็งแรง  ภายในได้ก่อตึกรามไว้หลายหลัง  แต่ปรักหักพังเสียเกือบหมดแล้ว...”          

        บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ริมคลองท่าเรือทางทิศตะวันตก  ซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่ที่เรือสำเภาเข้ามาจอดทอดสมอได้ มีถนนเรียงอิฐ สองข้างทางมีบ้านตึกฝรั่งเกือบร้อยหลัง มี ฝรั่ง แขก จีน กลาสีเรือ เป็นชุมชนที่พลุกพล่าน และเป็นท่าเรือที่สำคัญทางเศรษฐกิจของเมืองถลางมาตั้งแต่สมัยท้าวเทพกระษัตรีแล้ว  ท่าเรือแห่งนี้เป็นชุมชนที่เรือสำเภาเข้ามาขนถ่ายสินค้าขึ้นและนำดีบุกที่ถลุงและหลอมแล้วลงเรือสำเภา  เพราะมีหลักฐานจากขี้ตะกรันเศษดีบุกที่ติดกับแบบหลอมดีบุกกองอยู่บริเวณกำแพงบ้านเป็นจำนวนมาก  นอกจากการขนถ่ายสินค้าแล้ว  คนที่จะเดินทางไปยังหัวเมืองอื่นก็ต้องมาลงเรือที่ท่าเรือแห่งนี้เช่นเดียวกัน  และเป็นสถานที่เก็บภาษีอากรขาเข้าขาออกภาษีปากเรือของพนักงานของรัฐด้วย  ส่วนชายฝั่งทะเลตะวันตกเมืองถลาง บริเวณเลพัง บ้านดอนมีท่าเรือมาแต่สมัยโบราณเช่นเดียวกัน

        ภายหลังจากที่กรมศิลปากรได้บูรณะขุดแต่งจัดทำแผนผังซากอาคารต่างๆ  พร้อมทั้งเขียนคำอธิบายสังเขปตามข้อสันนิษฐาน  ทำให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจมากขึ้น  จากแผนผังในเนื้อที่ ๒๓ ไร่เศษ  เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  แบ่งพื้นที่ภายในออกเป็นสามตอน  คือ  ส่วนหน้า ส่วนกลาง และส่วนหลัง  ล้อมรอบด้วยกำแพงหนา ๒๐ นิ้ว บางส่วนหนา ๑๖ นิ้ว  หอคอยป้อมปืนอยู่ตรงกลางทั้งสี่ด้าน  ชิองประตูทางเข้าอยู่ทางทิศใต้

        พื้นที่ส่วนหน้า  ประกอบด้วย 

                (๑)  ช่องประตูทางเข้าอยู่ตรงกลางข้างป้อมปืน

               (๒)   ป้อมปืนสังเกตการณ์  เป็นอาคารสองชั้น  ชั้นล่างมีช่องปืนใหญ่สองกระบอก  ขนาดพื้นที่ของป้อม ๗ x ๗.๒๐ เมตร  ป้อมปืนส่วนนี้ยังมีสภาพหลักฐานเดิม มีเศษกระเบื้องดินเผามุงหลังคา  ส่วนยอดของหลังคาทำเป็นทรงสี่เหลี่ยมสอบปลายยอดแหลม  ประดับลวดลายแบบจีน  หลังคาทรงปั้นหยา

              (๓)   กำแพงทั้งสี่ด้าน สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงกล่าวไว้ว่า  กำแพงสูง ๖ ศอก ใบเสมาศอกคืบแบบจีน  กำแพงบางไม่มีเชิงเทิน  ความกว้างของกำแพง  ๖๐ วาทั้งหน้าหลัง  กำแพงสร้างอย่างแข็งแรง เพื่อป้องกันการสู้รบกับอั้งยี่

              (๔)   อาคารหมายเลข ๒,   เป็นศาลหอนั่ง ขนาด  ๑๕.๓๐ x ๒๓.๓๐ เมตร อยู่ริมกำแพงทิศใต้ส่วนหน้าเช่นเดียวกัน  เป็นอาคารตึกสำหรับเป็นศาลและหอนั่ง  ด้านหน้าเป็นโถงโล่ง ส่วนหลังคาเป็นทรงปั้นหยา

              (๕)   กลุ่มอาคารทิมดาบ ด้านหน้าทั้งสองมุม  เป็น กลุ่มอาคารห้องแถวมุมกำแพงพอดีแยกออกทั้งสองปีก ด้านละ ๕ ห้องมุมหนึ่งรวม ๑๐ ห้อง หน้าอาคารน่าจะปูไม้เป็นนอกชาน สำหรับพวกตำรวจพัก  รวมสองมุม  ๒๐ ห้อง

              (๖)   ตรงกลางอาคารส่วนหน้าเป็นอาคารว่าราชการหรือรับแขกมีบันไดขึ้นทั้งสองด้าน ถัดบันไดเข้าไปภายในเป็นพื้นปูด้วยกระเบื้องดินเผาขนาดใหญ่สีแดง อาจจะต่อเชื่อมเข้าไปเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ พื้นปูด้วยไม้มีตอม่อเสาปูนเรียงด้วยอิฐ

              (๗)   ตรงส่วนหน้ามุมซ้ายสุดติดกำแพงเตี้ยกั้นระหว่างพื้นที่ส่วนหน้ากับส่วนกลาง  มีอาคารชั้นเดียว (หมายเลข ๔) สามด้านก่ออิฐส่วนด้านหน้าอาจเป็นไม้ทำเป็นนอกชานโล่ง ขนาด  x ๑๑ เมตร เป็นอาคารหลังเล็ก  หลังคาน่าจะเป็นทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องดินเผา  แต่ฟากตรงกันข้ามทางริมกำแพงทิศตะวันออกไม่มีอาคารแบบนี้ 

             (๘)  กำแพงแบ่งพื้นที่ส่วนหน้ากับพื้นที่ส่วนกลาง มีช่องประตูทางเข้าไปในพื้นที่ส่วนกลางสองช่องซ้ายขวาของกำแพง

 

     พื้นที่ส่วนกลาง    

           พื้นที่ส่วนกลางซึ่งเป็นพื้นที่หลัก  มีขนาดกว้างใหญ่กว่าพื้นที่อีกสองส่วน  ประกอบด้วย

          (๑)   อาคารหมายเลข ๕  มีขนาด  ๑๕.๓๐ x ๒๓.๓๐  เมตร  เป็นอาคารสองชั้นหลังใหญ่  อยู่ขนานกันกับอาคารหลังใหญ่ตรงส่วนหน้า  อาคารหลังนี้เป็นที่พักอาศัยของเจ้าของบ้าน  ชั้นล่างยกพื้นสูงมีบันไดขึ้นด้านหน้าและด้านข้าง  บันไดขึ้นชั้นสองอยู่ตรงกลางห้องโถง  เจ้าของบ้านเข้ามาอาศัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐

          (๒)   สระน้ำ  อยู่ด้านหลังอาคาร เป็นสระน้ำขนาดเล็ก ขนาด  ๑๕ x ๒๐ เมตร  พื้นสระปูด้วยหินจัดเรียงเรียบสวยงาม  ลำร่องน้ำเข้าสระขุดเชื่อมกับคลองท่าเรือทิศตะวันตกของตัวบ้าน เป็นร่องน้ำตื้นเพื่อให้น้ำไหลเข้าสระ  กล่าวกันว่า น้ำในลำคลองท่าเรือใสสะอาด น้ำไหลตลอดปี  ส่วนร่องน้ำไหลออกจากสระทางทิศเหนือ ขุดลึกเสมอพื้นสระเพื่อให้ตะกอนไหลออกได้สะดวก

          (๓)   ป้อมปืนรักษาการณ์ทั้งสองด้านคือด้านทิศตะวันออกกับทิศตะวันตก  ป้อมทางทิศตะวันออกจะเห็นช่องเสียบปืนใหญ่สองช่อง

         (๔)   ถัดจากสระน้ำไปทางทิศเหนือติดกำแพงกั้นระหว่างพื้นที่ชั้นกลางกับชั้นหลังมีอาคารชั้นเดียวอยู่ตรงกลางขนานกับบ้านหลังใหญ่

         (๕)   มุมขวาของส่วนกลางติดกำแพงส่วนหลังมีอาคารชั้นเดียวหลังหนึ่ง

         (๖)   กำแพงกั้นระหว่างพื้นที่ส่วนกลางกับพื้นที่ส่วนหลังมีช่องประตูเข้าออกสองช่องซ้ายขวา

 

        พื้นที่ส่วนหลัง

            พื้นที่ส่วนหลังตรงกลางกำแพงมีป้อมปืนสังเกตการณ์เช่นเดียวกับพื้นที่ส่วนหน้า  ตรงมุมกำแพงทั้งสองด้านมีห้องข้างละ ๑๐ ห้อง  รวมสองด้าน  ๒๐ ห้อง เช่นเดียวกับส่วนหน้า  กล่าวกันว่า พื้นที่ส่วนนี้เป็นที่เก็บยุ้งฉางเสบียงอาหาร

 

       ส่วน พื้นที่ดินและบ้านพระยาวิชิตสงครามที่อยู่ในตัวเมืองภูเก็ตอยู่ริมคลองบาง ใหญ่ฝั่งตะวันออกบริเวณหน่วยราชการต่างๆในปัจจุบัน คือ ที่ทำการไปรษณีย์ ธนาคารออมสิน สวนสมเด็จฯ เรื่อยไปจนถึงการทาง วัดวิชิตสังฆาราม โรงเรียนพิบูลสวัสดี ศาลจังหวัด ศาลากลางจังหวัด จนติดเชิงเขาโต๊ะแซะ หน่วยราชการทั้งหมดบริเวณนี้  วกกลับมาทาง เรือนจำจังหวัด  โรงเรียนสตรีภูเก็ต วัดมงคลนิมิตร ที่ว่าการอำเภอจนติดเชิงเขารัง  ฯลฯ  ตามศักดินาหนึ่งหมื่นไร่ของท่าน  แต่ต่อมาถูกยึดเป็นของหลวงในสมัยพระยาภูเก็ต(ลำดวน) รวมทั้งบ้านที่ตำบลท่าเรือด้วย  เพื่อชดใช้การค้างชำระค่าภาษีรายปีเป็นเวลาหลายปี  สมัยก่อนบรรดาคุณหลวงคุณพระคนจีนที่ถือศักดินากี่ไร่  เล่ากันว่า ท่านใช้ไม้เท้าชี้เอาระหว่างเชิงเขานี้ไปจดเชิงเขานั้น เป็นของตนตามศักดิ์ เช่น  พันไร่ ฯลฯ

      พระยา วิชิตสงคราม ( ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) เป็นผู้มองเห็นการณ์ไกล ท่านเฉลียวฉลาดในการบริหารเมืองภูเก็ตทั้งในเชิงการจัดการราชการและในเชิง ธุรกิจ  แสดงให้เห็นว่าท่านมีบริวารและญาติมิตรที่ดี  รู้จักการทำมาหากินในเชิงราชการ การอ่อนน้อมถ่อมตน การกล้าตัดสินใจ  ท่านได้วางรากฐานการจัดการเมืองภูเก็ต ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดำเนินงานสานต่อ  แต่ด้วยเหตุผลหลายอย่างต่อมาทำให้พระยาภูเก็ตไม่สามารถจะบริหารงานราชการให้เป็นไปตามที่ทางการกำหนดได้  จึงทำให้ตระกูลรัตนดิลกที่ร่ำรวยมีชื่อเสียง  ต้องแตกกระจายไป  เหลือแต่ความทรงจำและอนุสรณ์ของท่านเท่านั้น

 

บรรณานุกรม

 

การแต่งตั้งขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๒๑

 

จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระนคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๐๖

 

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒  จุลศักราช ๑๑๗๑ – ๑๑๗๔ ล.๓  กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘

 

ไชยยุทธ ปิ่นประดับ  ประวัติความเป็นมาของอั้งยี่กับศาลเจ้าต่องย่องสู ภูเก็ต  ภูเก็ต : วิเศษออฟเซ็ตคอมพิว, ๒๕๔๐

 

พงศาวดารนามสกุลพระราชทานจากต้นฉบับเดิม  พิมพ์ในงานศพพระสุวพิทย์วิจัย ( ม.ล.สนิท สุทัศน์ )  กรุงเทพฯ : บริษัทบพิธจำกัด, ๒๕๑๓

 

ภูเก็จ๓๓   ภูเก็ต : กองประชาสัมพันธ์การแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ ๖  ๒๕ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๓

 

ที่ระลึก ๘๔ ปี คุณแม่จวง (ณ ถลาง) รัตนดิลก ณ ภูเก็ต  กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน), ๒๕๓๖

 

รายงานกิจการ พ.ศ. ๒๕๐๒ จังหวัดภูเก็ต  พระนคร : บริษัทการพิมพ์วีระสัมพันธ์จำกัด, ๒๕๐๓

 

เรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ ฉะบับมีรูป  พระนคร : โรงพิมพ์ลหุโทษ, ๒๔๗๔

 

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดภูเก็ต  กรมศิลปากร, ๒๕๔๔

 

สงบ ส่งเมือง “วิชิตสงคราม (ทัต รัตนดิลก ณ ภูเก็ต),พระยา”  สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ (๘) : ๓๓๕๑ – ๓๓๕๒

 

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒  พิมพ์ในงานศพพลเรือเอก หลวงอาจณรงค์ (อิง ช่วงสุวนิช)  พระนคร : บุญส่งการพิมพ์, ๒๕๑๘

 

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  อธิบายราชินีกุลบางช้าง  ฉบับชำระใหม่และพิมพ์ครั้งที่ ๑  พิมพ์ในงานพระศพสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี  พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๗๑

 

สมบูรณ์ แก่นตะเคียน  ประวัติเมืองภูเก็ต  ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  วิทยาลัยครูเพชรบุรี, (๒๕๒๐)

 

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ  หลวงอรรถมนูญเนตยาทร ( ปกครอง ณ ถลาง )  กรุงเทพฯ : กรุงเทพการพิมพ์, ๒๕๑๗

 

 

         :  สมบูรณ์ แก่นตะเคียน   ๒๙  กันยายน  ๒๕๕๐

 

Title  :  Phraya Wichitsongkram

        :  Somboon Kantakian

 Revised  :  November 16, 2008.

              :   November 21, 2008.

              :  January 09, 2009.

              :  January 16,2013

              :  November 14, 2018

 

 

 

 

บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน
หน่วยงานของรัฐ
  สกสค. ภูเก็ต
  ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
  อบจ. ภูเก็ต
  สนง.เขตการศึกษาภูเก็ต
  เทศบาลนครภูเก็ต
  เทศบาลเมืองกะทู้
  เทศบาลเมืองป่าตอง
  เทศบาลตำบลวิชิต
  เทศบาลตำบลรัษฎา
  เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี
  เทศบาลตำบลฉลอง
  เทศบาลตำบลศรีสุนทร
  อบต.สาคู
  อบต.เกาะแก้ว
  ขนส่งจังหวัดภูเก็ต
โรงพยาบาล
  โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
  โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต
  โรงพยาบาลถลาง
  โรงพยาบาลสิริโรจน์
  โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต
  โรงพยาบาลมิชชั่นภูเก็ต
เที่ยวภูเก็ต
  ภูเก็ตท่องเที่ยว
  แอร์เอเชีย
  บางกอกแอร์
  การบินไทย
  นกแอร์
  โอเรียนท์ไทย
แลกเปลี่ยนเงินตราและหุ้น
  ตลาดหลักทรัพย์-หุ้น
  ตลาดหุ้น
หนังสือพิมพ์
  มติชน
  ข่าวสด
  ไทยรัฐ
  เดลินิวส์
  voice tv
  สำนักข่าวอิศรา
  ผู้จัดการ
  แนวหน้า
  ไทยโพสต์
  บ้านเมือง
  โพสต์ทูเดย์
  สยามสปอร์ต
  เจาะลึกระบบสุขภาพ
  THE STANDARD
  the MATTER
  มุสลิมไทยโพสต์
  สยามธุรกิจ
  มติชนสุดสัปดาห์
  ไทยทริบูน Thai Tribune
  Bangkok Post
  ข่าวช่อง3
  เรียงเบอร์
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
  ข่าวภูเก็ต
  theThaiger
  Phuket Wan
  ข่าวภูเก็ตออนไลน์
  เสียงใต้รายวัน
หางานทำที่ภูเก็ต
  ศูนย์รวมงานจังหวัดภูเก็ต
  สมัครงานที่ภูเก็ต
  หางานทำที่จังหวัดภูเก็ต
หนังสือพิมพ์เพื่อนบ้าน
  ซินหัวไทย
  BBC news / ไทย
  NIKKEI ASIA
  Vientianemai
  Pasaxon
  The Phnom Penh Post
  The Myanmar Times
  Myammar - now
  The Irrawaddy
  Thanh Nien News
  Hanoitimes
  malaysiakini
  The StraitsTimes
  New Straits Times
  Tha Jakatar Post
  The Jakarta Globe
  Inside Indonesia
  The Manila Times
  Phillippine Daily Inquirer
  Phillippine Times
มูลนิธิ สมาคม
  มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต
  มูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต
เรื่องน่าสนใจ
  สถิติโลก
  เวลาทั่วโลก
  รหัสไปรษณีย์ไทย
  การหาระยะทางจากเมืองสู่เมือง