พระพิทักษ์ชินประชา ( ม้าเสียง ตัณฑวณิช )

พระพิทักษ์ชินประชา (ม้าเสียง ตัณฑวณิช)
พระพิทักษ์ชินประชา ( ม้าเสียง ตัณฑวณิช ) เป็นผู้หนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน ดังราชทินนามของท่านที่ว่า พิทักษ์ชินประชา ซึ่งแสดงถึงท่านมีส่วนช่วยเหลือเกื้อหนุนทั้งการงานอาชีพและประชาชนชาวภูเก็ต
พระพิทักษ์ชินประชา นามเดิมของท่านคือ ม้าเสียง แซ่ตัน เรียกแบบจีนว่า ตันม้าเสียง เป็นบุตรของ หลวงบำรุงจีนประเทศ ( เหนี่ยวหยี ตัณฑวณิช หรือ ตันเหนี่ยวหยี่ หรือตันอุ่ยหยี่ ) ถือกำเนิดที่ภูเก็ต มีพี่น้องด้วยกัน ๙ คนคือ ม้าจ่าย ม้าส่าย ม้าจุ้น ม้าสุ่น ม้าฮก ม้าเข่ง ม้าเสียง ม้าขุ้น และม้าหลวน ม้าส่ายได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพิไสยสรรพกิจ เกี่ยวกับครอบครัวพระพิทักษ์ชินประชา ท่านมีบุตรธิดารวม ๑๑ คน คือ อยู่อี่ อยู่เอี่ยว อยู่เกี้ยง สวดศรี สวดจิต สวดเช้ง อยู่เก้ง อยู่เหลียง สวดเอ๋ง อยู่ซิด และสวดเอี่ยม อยู่อี่ได้เป็น ขุนชินสถานพิทักษ์
ในวัยเด็ก บิดาได้ส่งให้ไปเรียนหนังสือที่เมืองปีนัง มาเลเซีย จนมีความรู้ความสามารถทีจะพูดได้หลายภาษาคือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษามาเลย์ เมื่อสำเร็จการศึกษาพ.ศ. ๒๔๔๔ จึงเดินทางกลับภูเก็ต ในช่วงนั้นบิดาได้ถึงแก่กรรมแล้ว ตันม้าเสียงได้รับราชการที่ไปรษณีย์ภูเก็ต กรมโทรเลขและไฟฟ้า กระทรวงโยธาธิการเมื่อ วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๗
ต่อมาได้ลาออกมาทำธุรกิจเกี่ยวกับเหมืองแร่ดีบุก ในระยะแรกทำแบบเหมืองรูและเหมืองหาบ จนพัฒนามาใช้เครื่องจักรไอน้ำทำเหมืองสูบ ด้วยเหตุที่มีความรู้ความสามารถในการทำเหมืองแร่ ในปีพ.ศ. ๒๔๔๔ ได้รับแต่งตั้งจากทางราชการเป็นที่ปรึกษากรมโลหกิจ ส่วนอาชีพทำเหมืองได้ขยับขยายไปหลายแห่ง ทั้งที่ภูเก็ตและพังงา นอกจากนี้ยังได้ประกอบธุรกิจอื่นๆด้วย เช่น สวนยางพารา สวนมะพร้าว โรงงานทำน้ำแข็งและโรงงานน้ำอัดลม โรงรับจำนำ โรงภาพยนตร์ เป็นต้น โดยเฉพาะโรงภาพยนตร์คนภูเก็ตเรียก โรงหนังม้าเสียงหรือโรงหนังพระพิทักษ์จนติดปาก
ด้วยความวิริยะอุตสาหะของท่านทั้งงานส่วนตัวและส่วนรวม จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากรัชกาลที่ ๖ เป็นที่ รองอำมาตย์โท หลวงพิทักษ์ชินประชา ถือศักดินา ๖๐๐ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๖ และในปีพ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๒ ชื่อ วิจิตราภรณ์
หลวงพิทักษ์ชินประชาได้สมัครเป็นทหารเสือป่าภูเก็ต เป็นนายหมู่โท ซึ่งมีพระยาสุรพลพิพิธ ( ชุบ โอสถานนท์ ) ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้บังคับกองพันทหารเสือป่าจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ นอกจากนี้ยังได้บริจาคเงินจำนวน ๑๐๐๐ บาทช่วยราชนาวีซื้อเรือรบทูลเกล้าฯถวายเพื่อใช้ป้องกันราชอาณาจักรสยาม
หลวงพิทักษ์ชินประชา ได้ทำหนังสือขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อขอพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานนามสกุลว่า ตัณฑะวณิช เป็นภาษาโรมันว่า TANDAVANIJA เป็นลำดับที่ ๓๒๑๔ ให้แก่ พระพิไสยสรรพกิจ ( ตันม้าส่าย)พี่ และ หลวงพิทักษ์ชินประชา ( ตันม้าเสียง ) น้อง กรมการพิเศษจังหวัดภูเก็ต แซ่ตัน เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ (27/6/16 = ๒๗ มิถุนายน ๒๔๕๙)
ในปีพ.ศ. ๒๔๕๙ อาคารโรงเรียนวรสิทธิ์ตั้งอยู่บริเวณวัดมงคลนิมิตร
ซึ่งสร้างตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๔๐ ชำรุดทรุดโทรมลง หลวงพิทักษ์ชินประชาจึงได้บริจาคทรัพย์สร้างอาคารตึกสองชั้นริมถนนเยาวราช เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลภูเก็ตในปีพ.ศ. ๒๔๖๐ ได้เสด็จไปเปิด และได้พระราชทานนามโรงเรียนว่า โรงเรียนตัณฑะวณิชวิทยาคม ดังพระราชดำรัสว่า
เรามีความพอใจเปนอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้มาเปิดโรงเรียนสัตรี ในวันนี้ เพราะรู้สึกเปนสาธารณสถาน อันจะทำประโยชน์เพิ่มพูนความรุ่งเรือง แลความมั่นคงของจังหวัดภูเก็ตนี้ได้อย่างหนึ่งเปนแน่แท้ การศึกษาที่ได้จัดมาแล้ว โดยมากได้คำนึงถึงแต่การที่จะให้วิชาความรู้แก่กุลบุตรผู้ชาย พึ่งจะได้มาคิดแผ่ขยายการศึกษาของกุลสัตรี ให้เจริญขึ้นในเร็วๆนี้ เพราะฉะนั้น การที่หลวงพิทักษ์ชินประชา ได้มีความศรัทธาแลมีความจงรักภักดี จัดสร้างตึกนี้ขึ้นเป็นโรงเรียนแลถวายเปนของหลวง นับว่าเปนผู้ที่รู้สึกคุณประโยชน์ของการศึกษา ที่จะนำความเจริญมาสู่ชาติบ้านเมือง เปนตัวอย่างอันดีของผู้ที่หวังประโยชน์แก่คณะและแก่สำนักที่อยู่ของตน สมควรที่จะให้มีชื่อเสียงติดไว้ในเมืองนี้ เพราะฉะนั้น เราขอประกาศนามโรงเรียน ให้ตามนามสกุลของหลวงพิทักษ์ชินประชา ให้ชื่อโรงเรียนนี้ว่า ตัณฑะวณิชวิทยาคม เมื่อผู้ใดได้มาจังหวัดนี้แลได้มาถึงสถานที่นี้ ก็จะได้ระลึกถึงผู้ที่มีศรัทธาแลมีความจงรักภักดีมั่นคงอยู่ในพระมหากษัตริย์ แลมีความเห็นแก่ประโยชน์ของชาติบ้านเมือง เหมือนตั้งอนุสาวรีย์แห่งความจงรักภักดีของตนให้ปรากฏต่อไปชั่วกาลนาน เราขอให้สถานที่นี้ตั้งถาวรสืบไป เปนที่ให้ทานแก่กุลสัตรี เพื่อจะได้ทำประโยชน์สำหรับเบื้องน่าแก่ชาติของเราต่อไป โรงเรียนตัณฑะวณิชวิทยาคม ชาวภูเก็ตเรียกกันสั้นๆว่า โรงเรียนตัณฑ์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสตรีการช่าง ( ตัณฑวณิช ) แล้วเปลี่ยนเป็น โรงเรียนอาชีวศึกษาภูเก็ต ย้ายไปอยู่สะพานหินเป็น วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต ส่วนสถานที่เดิมในปัจจุบันเป็นโรงเรียนพุทธมงคลนิมิตร
ในปีเดียวกันนี้ หลวงพิทักษ์ชินประชา ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๕ ชื่อ ทิพยาภรณ์ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ในช่วงปีพ.ศ. ๒๔๕๙ - ๒๔๖๑ ได้เลื่อนจาก รองอำมาตย์โท เป็นรองอำมาตย์เอก ส่วนการเป็นทหารเสือป่านั้น ได้เลื่อนเป็นนายหมู่โท นายหมู่เอกและนายหมู่ใหญ่ ตามลำดับ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสภูเก็ต ได้ทรงเห็นคุณงามความดีของรองอำมาตย์เอก หลวงพิทักษ์ชินประชา จึงได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้สูงขึ้นเป็นที่ อำมาตย์ตรี พระพิทักษ์ชินประชา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑
พระพิทักษ์ชินประชา กรมการพิเศษจังหวัดภูเก็ต ได้สละทรัพย์สินเพื่อสาธารณประโยชน์และช่วยเหลือทางราชการเป็นประจำ นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว เช่น บริจาคที่ดินบริเวณถนนถลางให้เทศบาลเมืองภูเก็ตสร้างโรงไฟฟ้า ( ปัจจุบันคือที่ดินที่ตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวและสวนเฉลิมพระเกียรติ ) ได้สมทบทุนจำนวน ๒๐๐๐ บาทให้กองทัพไทยในครั้งที่มีการเรียกร้องดินแดนอินโดจีนคืน ร่วมบริจาคและเรี่ยไรเงินซื้อที่ดินสร้างศาลเจ้าหลิมฮู้ไท่ซือถนนทุ่งคา จนสำเร็จและเป็นผู้จัดการศาลเจ้าดังกล่าวจนถึงแก่กรรม
พระพิทักษ์ชินประชา นอกจากการเป็น กรมการพิเศษจังหวัดภูเก็ตแล้ว ยังได้รับการแต่งตั้งเป็น วุฒิสมาชิก ๒ ครั้ง เป็น สมาชิกวุฒิสภา ๑ ครั้ง เป็นสมาชิก พฤฒิสภาอีก ๑ ครั้ง
อำมาตย์ตรี พระพิทักษ์ชินประชา ( ม้าเสียง ตัณฑวณิช ) จึงเป็นอีกท่านหนึ่งที่ได้สร้างฐานะของตนเองจนมั่นคง และการช่วยเหลือสังคมตลอดเวลา อันเป็นตัวอย่างที่ดีให้อนุชนรุ่นหลังได้ถือเป็นแบบอย่าง และระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านได้กระทำไว้ให้ชาวภูเก็ต
: สัญชัย ตัณฑวณิช ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
|