หลวงราชกปิตัน หรือ หลิมโห้ย หรือ หลินโหว 林火 ผู้ตั้งห้างค้าขายอยู่ที่เมืองถลาง พร้อมทั้งเดินเรือสำเภาสินค้าชายฝั่งทะเลอันดามันตลอดแหลมมลายู เขาได้รับความชอบจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น หลวงราชกปิตัน ในการช่วยเหลือประเทศด้วยการเป็นหูเป็นตาและความกล้าหาญ ในการปราบปรามศัตรูของแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
หลวงราชกปิตัน เป็นชาวจีนพูดสำเนียงฮกเกี้ยน ชื่อโห้ย แซ่หลิม นายหลิมโห้ย พื้นเพอาศัยอยู่ที่มาเก๊า ซึ่งเป็นเมืองท่าเรือที่สำคัญในทะเลจีนใต้ เขาได้อพยพมาอยู่ที่เมืองถลางสมัยรัชกาลที่๒ เมื่อเขาได้ข่าวพม่ากำลังเตรียมทัพที่จะเข้าตีเกาะถลางในปีพ.ศ. ๒๓๕๒ เขาจึงรีบอพยพครอบครัวทรัพย์สมบัติไปพักอยู่เกาะหมากปีนัง เมื่อถลางเสียเมืองถูกเผาย่อยยับแล้ว เหตุการณ์สงครามเริ่มสงบ เขาจึงกลับเข้ามาก่อสร้างห้างที่เมืองถลางและเดินเรือสำเภาของตนเอง ค้าขายชายฝั่งทะเลอันดามันเหมือนเดิม ขณะนั้นมีพระยาถลางเจิมเป็นเจ้าเมือง
ด้วยทะเลแถบนี้มีพวกโจรสลัดมลายูรบกวนอยู่เสมอ จนตลอดแหลมมลายูถึงช่องแคบมะละกา ดังนั้นพวกพ่อค้าสำเภาจึงต้องมีลูกน้องและอาวุธปืนประจำเรือ เพื่อป้องกันพวกโจรสลัด เรือสำเภาของหลิมโห้ยก็เช่นเดียวกัน เขามีกลาสีเรือคนจีนที่มีประสบการณ์ในการรบทางเรือ การใช้ปืนประจำเรือ เพื่อป้องกันตนเอง สินค้า เป็นสำคัญ และยังต้องศึกษาด้วยว่าพวกโจรสลัดก๊กไหนอยู่ที่ใด ใช้เรือประเภทใด มักปล้นน่านน้ำในเขตไหน เช่นเดียวกับเจ้าเมืองใหญ่ท่าเรือชายฝั่งทะเลตะวันตก ย่อมรู้ตื้นลึกหนาบางชื่อเสียงเรียงนามของพวกโจรสลัดเหล่านั้นดี
เป็นเรื่องธรรมดาที่พวกพ่อค้าไม่ว่าชาติไหน เมื่อจอดเรือท่าเรือใด ย่อมมีความคุ้นเคยกับเข้าเมือง เยี่ยมเยียน รวมทั้งการสร้างโกดังสินค้ารับส่งสินค้าที่เมืองนั้น อาจจะต้องมีที่พักบ้านพักด้วย ดังเช่นชาวโปรตุเกสที่สร้างอาคารบ้านเรือนเป็นตึกเกือบร้อยหลัง มีถนนปูอิฐอย่างดี ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนล่วงมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่บ้านท่าเรือซึ่งสมัยนั้นเรียกหมู่บ้านโปรตุเกสจนเจริญ มีเจ้าแขวงในตำแหน่ง เมืองภูเก็จ คอยเก็บภาษีอากร จนเรียกกันต่อมาว่า เมืองภูเก็ตท่าเรือ ฝ่ายหลิมโห้ยก็เช่นเดียวกัน เขามีโกดังมีบ้านพักที่เมืองถลาง อาจมีที่เมืองเกาะหมากปีนังด้วย เช่นเดียวกับพวกพ่อค้าอื่น เพื่อสะดวกในการพักเก็บสินค้าและครอบครัว ตลอดจนการค้าสำเภาทางทะเล
เมืองถลางในสมัยนั้น เจ้าเมืองถลาง คือ พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม ( เจิม รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ) ระหว่างพ.ศ. ๒๓๕๔ ๒๓๘๑ ภายหลังจากที่พระยาถลางเจิม ได้อพยพชาวถลางที่หนีภัยข้าศึกไปอยู่พังงาส่วนหนึ่งในช่วงสงครามกับพม่าระหว่างพ.ศ. ๒๓๕๒ ๒๓๕๓ แล้ว ต่อมาได้โยกย้ายคนเหล่านั้นกลับเมืองถลางตามเดิม แต่ด้วยสภาพบ้านเรือนวัดวาอารามถูกเผาทำลายสิ้น จึงจำเป็นต้องหาที่สร้างเมืองใหม่ บางตำนานว่ามาอยู่ที่เมืองภูเก็ตท่าเรือ บางตำนานว่าไปสร้างเมืองใหม่ที่บ้านเมืองใหม่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งสร้างศาลหลักเมืองขึ้นด้วยดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งที่เมืองใหม่และบ้านท่าเรือ ที่เมืองใหม่ด้วยสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมที่จะทำมาหากิน ชาวบ้านจึงกลับลงมาอยู่ที่บ้านเคียน บ้าน
เหรียง พรุจำปา พรุสมภาร เป็นต้น เพราะต้องทำนาเป็นสำคัญ แล้วช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระนางสร้าง เอาเศียรพระพุทธรูปทั้งสามองค์ที่พม่าเผาลอกเอาทองสำริดไป บรรจุไว้ในองค์พระประธาน บ้านเคียนจึงเริ่มเจริญขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
เหล่าพ่อค้าจึงต้องย้ายกันมาสร้างห้างร้านค้าโกดัง บ้านเรือนและครอบครัว ที่บ้านเคียน รวมทั้งหลิมโห้ยด้วย ที่ต้องสร้างบ้านเรือนโกดังสินค้าที่บ้านเคียน นอกจากที่เกาะปีนัง
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๖๔ หลิมโห้ยได้แล่นเรือสำเภาของตน ออกจากเกาะหมากปีนัง เพื่อกลับมายังเมืองถลาง ตนพร้อมลูกเรือชาวจีนต่างสังเกตเห็นเรือลำหนึ่งที่ไม่ใช่เรือที่ใช้กันอยู่ในน่านน้ำแถบนี้ จึงให้กปิตันเลียบเรือของตนเข้าไปใกล้ จึงรู้ว่าเป็นเรือสัญชาติพม่า คงจะไม่ได้มาดีแน่นอน เขาพร้อมด้วยลูกเรือจึงช่วยกันล้อมจับทั้งเรือและชาวพม่า เขาจึงนำเรือพร้อมชาวพม่าผู้ต้องสงสัยกลับมายังเมืองถลาง แล้วมอบให้พระยาถลางเจิมสอบสวนจัดการ
ฝ่ายพระยาถลางเจิมจึงให้ขุนนางที่เกี่ยวข้องค้นเรือ พบเอกสารสำคัญเป็นภาษาพม่า ได้ความว่า พม่าชักชวนให้พระยาไทรบุรีรบกับไทย เมื่อเป็นเรื่องสำคัญของบ้านเมืองดั่งนี้ พระยาถลางเจิมจึงทำใบบอกรีบให้ขุนนางผู้ใหญ่เมืองถลาง นำเอกสารสำคัญ พร้อมทั้งชาวพม่าที่จับได้ และหลิมโห้ยพยานเข้ากรุงเทพฯเพื่อสอบสวนต่อไป
ฝ่ายทางเมืองหลวง จึงให้ขุนนางฝ่ายล่ามแปลเอกสารสำคัญของพม่า ว่า ฝ่ายพม่าชักชวนให้พระยาไทรบุรีแข็งเมืองต่อต้านไทย เมื่อสวบสวนชาวพม่าที่จับได้เป็นความจริงทุกประการ ด้วยความดีที่หลิมโห้ยได้กระทำไว้ต่อบ้านเมืองครั้งนี้ จึงได้บำเหน็จความชอบ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่๒ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานสัญญาบัตร บรรดาศักดิ์ เป็นที่ หลวงราชกปิตัน พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งให้หลวงราชกปิตันเป็นผู้จัดเก็บภาษีดีบุก จากการขุดร่อนหาแร่ และทำเหมืองแร่ดีบุก เป็นค่าภาคหลวง รวมทั้งการจัดเก็บภาษีการถลุงหลอมแร่ดีบุกด้วย
หลวงราชกปิตัน ( หลิมโห้ย ) จึงเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของชาวภูเก็ต ที่มีส่วนช่วยเหลือบ้านเมืองให้พ้นภัยจากศัตรูของแผ่นดิน จึงควรที่จะได้รับการยกย่องสรรเสริญในความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์ ความมีน้ำใจของเขา
: สมบูรณ์ แก่นตะเคียน ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓