หลวงบำรุงจีนประเทศ (เหนี่ยวหยี่ ตัณฑวณิช)
หลวงบำรุงจีนประเทศ (ตันเหนี่ยวหยี่)
หลวงบำรุงจีนประเทศ (ตันเหนี่ยวหยี่ หรือ เหนี่ยวหยี่ ตัณฑวณิช) เป็นอีกท่านหนึ่งที่ได้เดินทางมาทำหากินที่เมืองภูเก็ต จนสร้างฐานะได้ร่ำรวย นับเป็นการต่อสู้กับชีวิตจนได้ดีในที่สุด
ตันเหนี่ยวหยี่ หรือ เฉินอุ๋ยอี๋ ตระกูลแซ่เฉินหรือแซ่ตัน 陈 ถือกำเนิดที่ เมืองอามอย หรือ เอ้หมึง หรือ เซี่ยเหมิน แล้วแต่จะเรียก เมื่อประมาณพ.ศ. ๒๓๘๐ สมัยรัชกาลฮ่องเต้เต้ากวงแห่งราชวงศ์ชิง ซึ่งครองราชย์ระหว่างพ.ศ. ๒๓๖๓-๒๓๙๓ ตรงกับรัชกาลที่๓พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงนั้นประเทศจีนกำลังมีปัญหากับชาวต่างชาติคือ เกิดสงครามฝิ่นพ.ศ. ๒๓๘๓ ประกอบกับประชาชนอดอยากมาก นอกจากนี้ยังมีกบฏไต้ผิงทางภาคใต้อีกด้วย
ตันเหนี่ยวหยี่จึงตัดสินใจเดินทางด้วยเรือสมุทร ไปเสี่ยงโชคในแผ่นดินใหม่ ซึ่งคนจีนหนุ่มๆจำนวนมากได้เดินทางไปก่อนแล้ว ในครั้งแรกตันเหนี่ยวหยี่แวะที่สิงคโปร์ได้ระยะหนึ่ง แล้วจึงเดินทางขึ้นไปแวะที่ปีนัง ณ ที่นี้ ท่านได้ทำมาค้าขายตามความถนัด มีบ้านช่องและเป็นคนในบังคับอังกฤษ อยู่ที่ปีนังได้ระยะหนึ่ง เห็นว่า เมืองทุ่งคาหรือภูเก็ต มีการขุดแร่ดีบุกจ้างกุลีจีนเป็นจำนวนมากและรายได้ดี
ตันเหนี่ยวหยี่จึงตัดสินใจเดินทางมาภูเก็ต เพื่อดูลู่ทางที่จะลงทุนทำเหมืองแร่ดีบุก เมื่อเห็นว่าการทำเหมืองแร่มีรายได้ดี ท่านจึงชวนบุตรชายคนที่สอง คือ ตันม้าส่ายมาตั้งหลักปักฐานที่ภูเก็ต ประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๕ สมัยรัชกาลที่ ๕
โดยในระยะแรกท่านได้เข้าหุ้นทำเหมืองแร่ดีบุกกับ ตันหงิมจ้าว บิดาของพระอร่ามสาครเขต(ตันเพ็กฮวด) ทำอยู่ได้ระยะหนึ่ง ตันเหนี่ยวหยี่จึงขอแยกตัวออกมาทำกิจการเหมืองแร่ด้วยตนเองกับบุตรชาย พร้อมกับค้าขายไปด้วย จนมีฐานะร่ำรวยมั่นคงขึ้นมา โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ถนนดีบุกตรงกันข้ามวัดมงคลนิมิตรหรือวัดกลาง บริเวณที่เป็นปั๊มน้ำมันเชลในปัจจุบัน ได้ขยายกิจการร้านค้าและโรงรับจำนำ ชื่อ เหลี่ยนบี้ ตั้งอยู่ถนนถลาง หรือร้านซินแอนด์ลี ในปัจจุบัน
ในปีพ.ศ. ๒๔๑๗ เกิดเหตุการณ์ก่อหวอดของบรรดาคนงานจีนทำเหมืองที่เมืองระนอง ตั้งเป็นอั้งยี่ขึ้น ลุกลามมายังเมืองทุ่งคา มีการรวมกลุ่มของคนจีนในเมืองทุ่งคา ซึ่งมีหลายพันคน ตั้งเป็นองค์กรอั้งยี่ขึ้นชื่อ หงี่หิ้น และ ปุนเถ่ากง และอีกหลายกงสี ท่านเป็นคนหนึ่งที่ชาวจีนในเมืองทุ่งคา ให้ความเคารพนับถือ ตั้งท่านเป็นหัวหน้าต้นแซ่ คือ แซ่ตัน ของกงสีปุนเถ่ากง
ต้นปีพ.ศ. ๒๔๑๙ เนื่องจากจำนวนคนจีนในเมืองมีเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการกระทบกระทั่งกันขึ้นมา ทั้งคนจีนที่อยู่ในเรือสำเภาจอดที่ท่าน้ำและในตลาดตรอกมาเก๊าหรืออั่งอ้าหล่ายถิ่นหาความสำราญ เมื่อต่างเมาได้ที่ก็มักเขม่นกัน หรือทะเลาะกันมาก่อนเจอหน้ากันด้วยความมึน จึงชกต่อยกัน แต่ตำรวจรักษาการณ์มีแค่๑๐๐คน เมื่อทะเลาะกันจึงชวนพรรคพวกจากที่พักในกงสีเหมือง ออกมาต่อสู้ รวมทั้งมีความแค้นส่วนตัวที่ไม่ได้เงินค่าจ้างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะถูกนายหน้าหักค่าเดินทาง นายหัวเหมืองจ่ายไม่ครบ แย่งน้ำกันทำเหมือง เป็นฉนวนให้ลามไปถึงพวกกุลีที่อำเภอกะทู้ด้วย เกิดการสู้รบกันตายเป็นร้อย ส่วนกลุ่มปุนเถ่ากงในเมืองทุ่งคาตั้งป้อมกันเป็นกองทัพจะไปปล้นข้าวสารที่บ้านฉลอง เพราะเป็นตำบลปลูกข้าวแหล่งใหญ่ของเมืองทุ่งคา ร้อนถึงพ่อท่านแช่มวัดฉลองได้ทำผ้าประเจียดแจกจ่ายให้ชาวบ้านฉลองไว้ป้องกันตัว ฝ่ายชาวบ้านฉลอง ชาวกะตะ ชาวกะรนตั้งป้อมต่อสู้ ซึ่งขณะนั้น พระยาวิชิตสงคราม เจ้าเมืองภูเก็ต ได้เรียกตันเหนี่ยวหยี่ ซึ่งเป็นหัวหน้าต้นแซ่มาปรึกษา ขอให้ไประงับเหตุการณ์ดังกล่าว
ท่านก็ได้เดินทางไปเจรจาขอร้องเหล่าบรรดาหัวโจกอั้งยี่ ให้เห็นแก่ความสงบเรียบร้อย ที่อยู่ที่ทำกิน ขอให้เลิกรากันเสีย เหตุการณ์จึงสงบลง ต่อมาทางราชการส่วนกลางทราบ เรื่องการสงบศึก จึงมีการปูนบำเหน็จความดีความชอบเลื่อนชั้นให้ข้าราชการ ตลอดจนถวายสมณศักดิ์ให้พ่อท่านแช่มแห่งวัดฉลองเป็น พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญานมุนี สังฆปาโมกข์แห่งภูเก็ต ส่วนตันเหนี่ยวหยี่ ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ หลวงบำรุงจีนประเทศ ร่วมกับหัวหน้าคนอื่นๆอีกสามคน ให้เป็นนายอำเภอจีน และปลัดอำเภออีกสองคน
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ความทราบถึงกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ฮ่องเต้กวงสวีแห่งราชวงศ์ชิง ได้พระราชทานยศทางทหารให้เป็น บู๊เต็ก ให้แก่ตันเหนี่ยวหยี่
ในส่วนชีวิตครอบครัวของตันเหนี่ยวหยี่ ท่านมีบุตรชายและบุตรสาวหลายคน จากหลายภรรยา แต่ที่ได้มีการบันทึกไว้มีดังนี้
๑. ม้าจ่าย เป็นบุตรชายคนแรก เกิดจากภรรยาที่อยู่เมืองจีน ไม่ทราบชื่อภรรยา ม้าจ่ายได้เจริญเติบโตที่เมืองจีนตลอด ไม่ได้มาเมืองไทย
๒. ม้าส่าย ได้เป็นพระพิไสยสรรพกิจ เดิมเป็นบุตรของพี่สาวตันเหนี่ยวหยี่ แต่ได้ขอมาเป็นบุตรบุญธรรม เข้าใจว่าได้เดินทางมาเมืองไทยพร้อมกับตันเหนี่ยวหยี่
๓. ม้าจุ้น ไม่ทราบนามมารดา แต่เกิดที่เมืองไทย
๔. ม้าสุ่น ไม่ทราบนามมารดา
๕. ม้าฮก มารดาคือ ปาเบี๋ยน
๖. ม้าเข่ง มารดาชื่อสอติ๋ม ต่อมาย้ายไปอยู่ปีนัง
๗. ม้าเสียง คือ พระพิทักษ์ชินประชา มารดาคือ ปาส่วน ซึ่งเป็นญาติของปาป้องภรรยาอีกคนซึ่งมีบุตรสาว ท่านขอมาเลี้ยงเป็นบุตรชาย
๘. ม้าขุ้น มารดาชื่อ ปาเบี๋ยน
๙. ม้าหลวน ไม่ทราบชื่อมารดา
หลวงบำรุงจีนประเทศ (ตันเหนี่ยวหยี่) ได้ถึงแก่กรรมในปีพ.ศ. ๒๔๔๑ ตรงกับรัชกาลฮ่องเต้กวงสวีแห่งราชวงศ์ชิง และสมัยรัชกาลที่ ๕ สิริรวมอายุ ๖๒ ปี ศพบรรจุไว้ที่สุสานหลักกงษีริมถนนเทพกระษัตรีฝั่งเขาโต๊ะแซะ
ทวียศ นาโคศิริ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๖
*****
.jpg)

ป้ายซินจู้หลวงบำรุงจีนประเทศ (ตันเหนี่ยวหยี่)



|