หลวงอนุภาษภูเก็ตการ (จินหงวน หงษ์หยก)

หลวงอนุภาษภูเก็ตการ (จินหงวน หงษ์หยก)
หลวงอนุภาษภูเก็ตการเดิม ชื่อ จินหงวน หงษ์หยก ชีวิตเริ่มต้นจากการกำพร้าบิดาตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มได้ทำงานอยู่กับพี่ชายคนโต (หลวงประเทศจีนารักษ์) ซึ่งเป็นนายเหมืองพังงา ภูเก็ต ทำงานอยู่กับพี่ชายจนมีความรู้ความสามารถบ้างจึงขอแยกตัวมาทำเหมืองหาบที่ตำบลวิชิต (บ้านระเงง) อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ตกับเพื่อนๆ และได้ประสบปัญหาจนขาดทุนแทบหมดตัว แต่ด้วยความมานะพยายามและความอดทน จึงสามารถดำเนินงานเปิดเหมืองสูบแห่งแรกในเมืองไทย โดยที่เป็นผู้ที่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค จึงพยายามปรับปรุงแก้ไขวิธีการทำเหมืองได้ประสบความสำเร็จโดยการตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อใช้ในกิจการทำเหมือง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตแร่ต่ำลง
มื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๗๓ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพร้อม กับลงลายพระหัตถ์ประทานชื่อเหมืองว่า เจ้าฟ้า ไว้เป็นที่ระลึกต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการเหมืองเจ้าฟ้า อันนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงแก่วงศ์ตระกูล หงษ์หยก
นอกจากดำเนินกิจการเหมืองสูบแล้ว หลวงอนุภาษยังได้ขยายกิจการทำเหมืองเรือขุด สวนยาง สวนมะพร้าว โรงงานแปรรูปไม้ โรงสีข้าว เรือเดินทะเล ระหว่างภูเก็ต-กันตัง ฯลฯ
เมื่อมีความเจริญก้าวหน้าดีแล้ว จึงได้จัดตั้งบริษัทอนุภาษและบุตร จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๘๒ โดยได้จัดแบ่งให้ภรรยา บุตร ธิดา เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เพื่อเป็นการสร้างความเป็นปึกแผ่นถาวรให้แก่บุตรธิดาจนถึงปัจจุบันนี้
เพราะได้บำเพ็ญสาธรณประโยชน์ให้กับท้องถิ่นและหน่วยราชการทั้งที่ไม่มีอนุสรณ์และที่มีอนุสรณ์ เช่น สร้างโรงเรียน สร้างวัด ยกที่ดินให้สร้างโรงพยาบาลมิชชั่น ฯลฯ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอนุภาษภูเก็ตการเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๔
นอกจากหลวงอนุภาษจะได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์เองแล้ว ยังได้อบรมสั่งสอนบุตรหลานให้รู้จักเสียสละ และบำเพ็ญประโยชน์เพื่อท้องถิ่น ซึ่งบุตรหลานทุกคนก็ได้บำเพ็ญตนสืบทอดเจตนารมณ์ของท่าน
หลวงอนุภาษภูเก็ตการ เกิดวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๓๑ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๔๓๑ อายุ ๗๔ ปี แต่งงานกับคุณนายหลุยฮุ่น หงษ์หยก มีบุตรธิดารวม ๑๐ คน คือ
๑. นางยุพา หงษ์หยก
๒. นายวิรัช หงษ์หยก (ถึงแก่กรรม)
๓. นายวีระพงษ์ หงษ์หยก
๔. นายคณิต หงษ์หยก (ถึงแก่กรรม)
๕. นายฮกโป้ หงษ์หยก (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
๖. นางยุวดี เจริญพิทักษ์
๗. นายอเนก หงษ์หยก
๘. นายณรงค์ หงษ์หยก
๙. นางยุพาวดี สมุทรอักษฎงค์
๑๐.นายสานิต หงษ์หยก
หลวงอนุภาษภูเก็ตการ (จินหงวน หงษ์หยก) จึงเป็นบุคคลตัวอย่างของการประกอบธุรกิจที่ซื่อสัตย์สุจริตจนสร้างฐานะของตนเองให้มั่นคง
|