Bookmark and Share Add to Favorites  
ภูมิอากาศจังหวัดภูเก็ต
  ความเร็วลมทั่วโลก
  สภาพอากาศจังหวัดภูเก็ต
  Phuket Weather Today
  10 Day Weather Forcast for Phuket
  สภาพอากาศภาคใต้ฝั่งตัวันตก
  การเปลี่ยนองศา
แผ่นดินไหวและสึนามิ
  กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว
  เรื่องแผ่นดินไหวและสึนามิ
  คลื่นยักษ์สึนามิถล่มภูเก็ต - You Tube
  แผ่นดินไหวทั่วโลก (USGS)
รวมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภูเก็ต
  PHUKET HERITAGE
  ทำเนียบสายตระกูล ณ ระนอง
สถาบันอุดมศึกษาในภูเก็ต
  มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
  วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต
  วิทยาลัยสารพัดช่างภูเก็ต
โรงเรียนในภูเก็ต
  โรงเรียนดาวรุ่งวิทยา
  โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว
  โรงเรียนพุทธมงคลนิมิตร
  โรงเรียนอนุบาลภูเก็ต
  โรงเรียนราไวย์เรืองวิทย์
  โรงเรียนเทศบาลเมืองภูเก็ต
  โรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง
  โรงเรียนเชิงทะเลวิทยาคม
บริการวิชาการ
  สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ภูเก็ต
  สนง.วัฒนธรรมภูเก็ต
  สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.ภูเก็ต
ค้นข้อมูลจากหอสมุด
  Library of Congress
  The British Library
  มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  มหาวิทยาลัยมหิดล
ค้นเอกสาร
  พระราชบัญญัติ
  ราชกิจจานุเบกษา
สถาบันศาสนา
  @ พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี
เว็บเครือข่าย
  สมบูรณ์แก่นโน้ต
  สมบูรณ์อินโฟ
  ตระกูลแซ่หลิน
  สมบูรณ์แก่นโน้ต
.

ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ

 


 

 

 

         สาเหตุที่จะมีค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญนั้น ทั้งนี้ด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรด้วยพระโรครูมาติซั่ม ทรงมีพระอาการปวดตามพระวรกายพระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) แพทย์หลวงประจำพระองค์ได้กราบทูลว่า การจะเสด็จไปประทับรักษาพระองค์ในที่ที่มีอากาศแห้งอบอุ่นเช่น ชายทะเล พระโรคก็จะหายหรือทุเลาลงได้เป็นแน่ ในสมัยนั้นสถานที่ตากอากาศชายทะเลที่ประชาชนนิยมไปกันมากคือหัวหิน ถ้าหากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จไปประทับ ณ ชายหาดหัวหิน ย่อมจะทำให้ประชาชนไม่สะดวกสบาย ทั้งนี้ต้องกั้นเป็นเขตหวงห้ามเพราะเป็นเขตพระราชฐาน พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้กรมอุทกศาสตร์ กระทรวงทหารเรือสำรวจหาดทรายชายทะเลจังหวัดเพชรบุรี หาที่เหมาะสมที่จะสร้างที่ประทับแรม เมื่อกรมอุทกศาสตร์ได้สำรวจแล้วมีความเห็นว่า เวิ้งอ่าวจากปากคลองบางทะลุลงไปทางทิศใต้ มีหาดทรายดีพอสมควร กำลังลมและมีไอโอดีนสูงกว่าที่อื่น จึงนำขึ้นกราบบังคมทูลถวายรายงาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้สร้างพลับเพลาที่ประทับแรมขึ้นที่ชายทะเลตำบลทะลุ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐

         พลับเพลาที่ประทับที่ชายหาดตำบลบางทะลุนั้น เป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูงใช้ไม้ยางสร้าง หลังที่เป็นห้องพระบรรทมอยู่ล้ำหน้าใกล้ทะเลกว่าหลังอื่น มีอาคารใต้ถุนเตี้ยอยู่หลังหนึ่งคล้ายท้องพระโรงเป็นที่เสด็จเสวยพระกระยาหารและทอดพระเนตรการแสดงมหรสพต่างๆ นอกจากอาคารพลับเพลาที่ประทับแล้ว ยังมีอาคารคล้ายๆ กันหลายหลังสำหรับผู้ตามเสด็จ อาคารเหล่านี้สร้างรวมกันเป็นหมู่บ้านใหญ่เป็นค่ายจึงเรียกว่า ค่ายหลวงบางทะลุ เช่นเดียวกับค่ายหลวงบ้านโป่ง ค่ายหลวงโพธาราม

         นอกจากหมู่อาคารเหล่านี้แล้ว ยังมีประภาคารหรือหอคอยสูงสร้างอยู่ชายหาด เมื่อน้ำขึ้นจะท่วมถึง ทรงรับสั่งให้สร้างขึ้นด้วยโครงไม้ สูงประมาณ ๘ เมตร สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ประภาคารสูงนี้กลางวันชักธงชาติบนยอด กลางคืนตามดวงไฟสีแดง ต่อมาอีก ๒ สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ได้สร้างห้องพักสำหรับพนักงานประภาคารแต่ไม่มีใครไปอยู่

         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาเมืองเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ โดยขบวนรถไฟพระที่นั่ง มีผู้ไปรับเสด็จคือ พระยาจ่าแสนยบดี (ฉี่ บุนนาค) พระยาพิไชยสุนทร (ทอง จัททรางศุ) ผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี พระยาสุรพันธ์พิสุทธ์ (เทียน บุนนาค) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ดำรงตำแหน่งผู้กำกับราชการที่ประจำจังหวัดเพชรบุรี พ.ท. พระสุรฤทธิ์พุฒิไกร (อิ้น บุนนาค) ราชองครักษ์ผู้บังคับการกรมทหารบกราบที่ ๑๔ จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น นอกจากนี้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่โดยเสด็จ เช่น เจ้าพระยาธรรมธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง, เจ้าพระยาอภัยราชมหายุติธรรมธร (ม.ร.ว. อบ สุทัศน์) พระยาประสิทธิศุภการ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ) พระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล. ฟื้น พึ่งบุญ) นอกจากนี้ยังมีท่านอื่นๆ ที่ตามเสด็จด้วย เช่น ม.ล.ปิ่น มาลากุล ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง ๑๔ ปี จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) เป็นต้น

         วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระราชวังบ้านปืนไปทอดพระเนตรพลับเพลาที่ประทับ ฯ ตำบลบางทะลุเวลา ๑๖.๐๐ น. แล้วเสด็จกลับพระราชวังบ้านปืน ใช้เวลา ๔ ชั่วโมง เดิมกำหนดจะแปรพระราชฐานไปยังค่ายหลวงบางทะลุในวันที่ ๓๐ เมษายน แต่ได้เลื่อนไปในวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑

         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปยังค่ายหลวงบางทะลุตั้งแต่วันที่ ๒ พฤษภาคม เสด็จพระราชดำเนินกลับเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ รวมเวลาที่ประทับแรมอยู่ถึง ๗๓ วัน ในขณะที่ประทับแรมนี้เสด็จลงสรงน้ำทะเลถึง ๕๗ ครั้ง เหตุที่มิได้เสด็จลงสรงน้ำทะเลบางวันนั้น เพราะทรงมีพระราชภารกิจและบางวันฝนตก วันที่ ๕ พฤษภาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งพระยาจ่าแสนบดี (ฉี่ บุนนาค) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี พระราชทานเข็มข้าหลวงเดิมแก่พระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทียน บุนนาค)

         ขณะที่ประทับอยู่ ณ ค่ายหลวงบางทะลุนี้ กองทัพเรือได้ส่งเรือรบหลวงพาลีรั้งทวีปมารักษาด่านทางทะเลและถวายความปลอดภัยแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มี น.ต หลวงฤทธิคำรณ ร.น. เป็นผู้บังคับการและมี ร.อ. ขุนชาญใช้จักร ร.น. เป็นต้นกล วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ มีเรือรบกลวงเสือคำรณสิทธุ์ เรือสุครีพครองเมือง เรือสุริยมณฑล เรือตอปิโด ๓ ลำ เรือวิเทศกิจการและเรือปราบปรปักษ์ มาจอดที่หน้าค่ายหลวงบางทะลุเพื่อซ้อมรบ ขณะนั้นกำลังอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งแรก เรือที่ไปซ้อมรบได้ออกทะเลไปและกลับเข้ามาหน้าค่ายหลวงอีกในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม รวมเรือรบที่จอดอยู่หน้าค่าย ๑๒ ลำ เสนาธิการทหารเรือขณะนั้นคือ พลเรือโทพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ร.น. ทรงนำนายทหารเรือที่มากับเรือรบเหล่านั้นขึ้นเฝ้าทูลละอองทุลีพระบาท ณ พลับพลาค่ายหลวงบางทะลุเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ในวันเดียวกันนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งพระยาจ่าแสนยบดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรีเป็นพระยามนตรีสุริยวงศ์ พระราชทานสัญญาบัตรและพระราชทานชื่อและเสมาแก่บุตรด้วย

         วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงพระราชดำริว่า “บางทะลุ” เป็นชื่อที่ไม่ไพเราะจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเสียใหม่และพระราชทานนาม พระราชวังบ้านปืนด้วยดังประกาศต่อไปนี้

         “ประกาศเปลี่ยนนามพระราชวังบ้านปืนและค่ายหลวงบางทะลุ แขวงจังหวัดเพชรบุรี

         มีพระราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ให้เปลี่ยนนามพระราชวังบ้านปืน ขนานนามพระราชทานใหม่ว่า พระรามราชนิเวศน์ ส่วนค่ายหลวงบางทะลุนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขนานนามพระราชทานว่า ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ

         ประกาศมา ณ วันที่ ๗ พฤษภาคม พระพุทธศักราชราช ๒๔๖๑”

         ในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นวันวิสาขบูชา ทางค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญไม่มีวัดที่อยู่ใกล้ละแวกนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพนักงานจัดตั้งพระพุทธรูป พระไชยหลังช้างพร้อมทั้งเครื่องสักการบูชาที่พลับพลาตรงโต๊ะเสวย โดยจัดเป็นพิเศษ เวลาประมาณสี่ทุ่มเสด็จลงประทับพลับพลา ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธรูปและพระราชทานเทียนชนวนแก่เจ้านายข้าราชการทรงนำสวดนมัสการ แล้วเสด็จกระทำประทักษิณพลับพลาพร้อมด้วยข้าราชบริพารครบสามรอบแล้วเสด็จประทับในพลับพลา ทรงแสดงคุณานุคุณพระรัตนตรัยหรือพระบรมราชานุศาสนีย์เป็นธรรมะสำหรับผู้ไม่เคยบวชเรียนมาก่อนทรงแสดงแบบ “ปากเปล่า” ยกเว้นบางตอนที่ทรงอ่านจากหนังสือธรรมวิภาคปริเฉทที่ ๒ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสและยังได้พระราชทานพระราชาธิบายโครงสยามานุสสติ จากคำนำหนังสือพระบรมราชานุศาสนีย์ ทรงเขียนไว้ว่า

         “อนุศาสนีย์นี้ เป็นข้อความที่ข้าพเจ้าได้กล่าวเมื่อวันวิสาขบูชา ณ ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ แขวงเพชรบุรี ณ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ มีผู้ฟังคือ ข้าราชการในพระราชสำนัก ทหารบก ทหารเรือและข้าราชการหัวเมืองผู้ที่ได้มาอยู่ประจำรักษาหน้าที่อยู่”

         รัชกาลที่ ๖ เสด็จลงสรงน้ำทะเลทุกครั้งจะมีข้าราชการบริพารตามเสด็จจะคอยลงไปถวายความปลอดภัยเป็นกลุ่มๆ ละประมาณ ๒๐ - ๔๐ คนทุกครั้ง พระองค์ทรงชุดอาบน้ำเป็นผ้าฝ้ายสีแดงเป็นเสื้อแขนสั้นแค่ข้อศอก พระสนับเพลาเป็นกางเกงสามส่วน เมื่อพระองค์เสด็จลงทะเลแล้ว พวกตามเสด็จจะว่ายล้อมวง วันหนึ่งขณะที่จะเสด็จลงสรงน้ำทะเลนั้น วันนั้นน้ำทะเลลดลงไปมาก ทำให้ดูหาดกว้างออกไป พระองค์เสด็จพระราชดำเนินลงไปตามหาดทราย เมื่อถึงน้ำปรากฏว่าน้ำขุ่นโคลนพระองค์จึงเสด็จกลับขึ้นมาชายหาดที่มีแอ่งน้ำขังอยู่ ประทับ ณ แอ่งน้ำนั้น ทรงปั้นทรายเป็นคูเมืองมีลำธารคดเคี้ยว ทำเป็น “เมืองทราย” ครั้งแรกๆ ที่ทรงสร้างถูกน้ำทะเลซัดลบไป เมื่อสร้างใหม่พนักงานชาวที่จะคอยเตรียมจอมเสียไว้ การสร้างครั้งหลังๆ จะมีหิน ไม้ กระดาษและวัตถุอื่นๆ ประกอบ โดยสร้างเป็นอาคารเล็กๆ รวมทั้งพระที่นั่งด้วย นอกจากนี้มีโรงสี มีน้ำตก แม่น้ำ ลำคลอง น้ำพุ ดังคำโคลงของ ม.ล. ปิ่น มาลากุล ซึ่งได้แต่งขณะตามเสด็จในสมัยนั้นว่า

            “ทุกสิ่งย่อมเล็กน้อย     แสนดี

         น้ำตกลำธารมี                ระลอกน้ำ

         ไหลสะพรั่งขาวสี             สะอาด

         ยาวยืดเร็วรวดซ้ำ             ประดับด้วยศิลา

            พระที่นั่งกระดาษนั้น     อยู่ใน วังแฮ

         ลมพัดธงครุฑไหว           เลิศล้ำ

         โรงสีก็ติดไฟ                 ควันพลุ่ง ปล่องแฮ

         ข้าราชการซ้ำ                 ปลูกบ้านตามใจ

            มีถนนตัดแล้ว             หลายสาย

         และปลูกต้นไม้ราย           คู่ข้าง

         เขาถ้ำก่อด้วยทราย          หินประกอบ

         น้ำพุแลสล้าง                 เก่งแท้ควรชม”

         เมืองทรายในระยะหลังๆ ได้จัดทำกันสวยงามพอใช้ เพราะประสบการณ์ของผู้สร้างบ้านเรือนทรายมีมากขึ้น เสียเวลาสร้างมาก ดูเหมือนจะไม่รู้จักจบสิ้น ทั้งนี้เพราะภัยธรรมชาติทำให้เป็นเมืองทรายต้องพังทลายลงโดยเฉพาะคลื่นเมื่อน้ำทะเลขึ้น ลมแรงและโดยเฉพาะฝนตกซ้ำ ข้าราชบริพารที่ทำงานสร้างเมืองทรายได้รับสมญานามว่า “กุลีหลวง” ตามคำของพระยาอนิรุทธเทวา กุลีหลวงเหล่านี้ได้รับพระราชทานขนมปังและบุหรี่เป็นค่าตอบแทนในระยะแรก แล้วเปลี่ยนเป็นของว่างต่อมาได้รับพระราชทานกางเกงกันคนละตัวเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ มีผู้กล่าวกันว่า เหตุการณ์เมืองทรายนี้มีส่วนดลพระราชหฤทัยให้เริ่มสร้างดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตย ซึ่งเป็นบ้านเล็กเมืองน้อยและอาจเป็นไปได้ เพราะหลังจากเสด็จกลับกรุงเทพมหานครแล้วได้เสด็จไปประทับที่พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ รุ่งขึ้นวันที่ ๒๑ กรกฎาคม เสด็จลง ณ บริเวณทิศเหนือของพระที่นั่งอุดรทรงกำหนดกฎเกณฑ์การจับจองที่ดิน เตรียมสร้างเมือง หลังจากนั้นอีก ๔ วัน จึงทราบกันว่าชื่อเมืองดุสิตธานี

         เมืองทราย ณ ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ จึงเป็นบ่อเกิดของพระราชดำริที่จะพระราชทานการศึกษาเรื่องการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนชาวไทย โดยเริ่มจากพระราชสำนักก่อนแล้วจึงถ่ายทอดไปยังบุคคลธรรมดาทั่วไป เมืองดุสิตธานีมิใช่เป็นเมืองตุ๊กตาเหมือนของต่างประเทศ แต่เป็นเมืองที่จำลองแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เมืองดุสิตธานีมีธรรมนูญการปกครองมีวัดธรรมาธิปไตยมีถนนประชาธิปไตย ถนนราษฎรมรรคา มีการเลือกตั้งผู้แทน เป็นต้น

         วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย เสด็จกลับจากยุโรปทางเมืองปีนัง ได้แวะมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ ก่อนที่จะเสด็จเข้าสู่กรุงเทพมหานคร

         วันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานสัญญาบัตรแก่พระยาจ่าแสนยบดี เป็นพระยาสุริวงศ์ ดำรงราชบูรณะมณฑล กมลภักดี พิริยพาหะ ตำแหน่งสมุหเทศนาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลราชบุรี

         วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ เอกอัครราชทูตฝรั่งเข้าเฝ้าเพื่อถวายบังคมลา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเสด็จมายังพระรามราชนิเวศน์เพื่อให้ท่านทูตเข้าเฝ้า พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และพระราชทานเลี้ยงพร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และราชองครักษ์ ในโอกาสนี้ทางจังหวัดเพชรบุรี ได้จัดให้ชาวไทยทรงดำ แอ่วลาวถวายในวันที่ ๑๓ มิถุนายน เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาเข้าเฝ้าเพื่อถวายบังคมลาในโอกาสพ้นตำแหน่ง พระราชทานเลี้ยงและทางจังหวัดจัดชาวไทยทรงดำแอ่วลาวถวายเหมือนวันก่อน

         ขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าหัวอยู่ประทับแรม ณ ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญนี้มีกิจกรรมด้านมหรสพที่ควรกล่าวไว้คือ เวลากลางคืนหลังจากเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว มักจะมีการแสดงถวายทอดพระเนตรโดยเฉลี่ยแล้วสัปดาห์ละ ๓ คืน การแสดงมีละคร, งิ้ว, ลิเก เพลงลำตัดและภาพยนตร์และในขณะที่เสวยจะมีแตรวงของทหารบรรเลงสลับกับวงปี่พาทย์ของกรมมหรสพ

         ภาพยนตร์ที่นำมาฉายทอดพระเนตร ณ ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญนั้นจะมักจะเป็นภาพยนตร์ใหม่ๆ ที่ยังมิได้เข้าในโรงภาพยนตร์ที่กรุงเทพฯ สมัยนั้นจะเรียกกันว่า “หนังญี่ปุ่น” ภาพยนตร์ที่นำมาฉายมักเป็นเรื่องยาว จะต้องฉายกัน ๓ - ๔ คืนจึงจบเรื่อง เรื่องที่นำมาฉายเช่น สืบราชสมบัติหรือโบรคเก้นคอยน์ เรื่องล้างผลาญอำนาจ เรื่องตลกเคย์ ๓

         การละเล่นมีผู้แสดง ๒ กลุ่ม คือ กรมทหารบกราบที่ ๑๔ กับชาวบ้านเมืองเพชร การแสดงของทหารราบที่ ๑๔ ได้แก่ ละครพูด ลิเก เพลงฉ่อยและงิ้ว สำหรับงิ้วเล่นทั้งงิ้วไทยคือพูดไทยตลอดเรื่องและงิ้วจีน ส่วนชาวเพชรนั้น เมื่อได้แสดงต่อหน้าพระที่นั่งก็แสดงอย่างสุดฝีมือและฝีปากชั้นเยี่ยมทีเดียว มีการแสดงละครชาตรี ๒ ครั้ง ที่สำคัญคือเพลงฉ่อย การแสดงมีหญิงแถวหนึ่งชายแถวหนึ่งร้องเกี้ยวกันด้วยกลอนสด มีอยู่ครั้งหนึ่งฝ่ายชายนำโดยข้าราชการกรมมหรสพ ฝ่ายหญิงเป็นชาวเมืองเพชร  ปรากฏว่าโต้ตอบกันสนุกสนานมาก คณะเพลงฉ่อยที่มีชื่อเสียงของเมืองเพชรสมัยนั้นคือคณะของยายอินนายเนตร ทางจังหวัดได้ติดต่อนำมาถวายทอดพระเนตรและโดยเฉพาะวันก่อนจะเสด็จกลับ สมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรีได้จัดเลี้ยงทูลเกล้าถวายและได้มีการจับฉลากของขวัญกันทุนคน ของเหล่านี้เป็นฝีมือของชาวเมืองเพชรทั้งสิ้น มีการละเล่นประชันกัน พระองค์ทอดพระเนตรเพลงอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะโปรดกระบวนการเล่นเพลงและปฏิภาณในการเล่นของชาวเมืองเพชร นอกจากการละเล่นต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว บางโอกาสมีการโต้วาทีแบบสักรวาที – ปรวาที มีการต่อรูปประกวด เป็นต้น

         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับจากค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญมาประทับแรม ณ พระรามราชนิเวศน์เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ โดยรถยนต์พระที่นั่ง ประทับ ณ ที่นี่ ๖ คืน ในวันที่ ๑๗ และ ๑๘ มกราคม เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระนครคีรี วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ราษฎรชาวเมืองเพชรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายธูปเทียน ในโอกาสนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรแก่พระยาพิไชยสมุทร (ทอง จันทรางศุ) ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นพระยาสุรินทรฤาไชย บนพระนครคีรี วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เสด็จพระราชดำเนินกลับยังกรุงเทพมหานครโดยรถไฟพระที่นั่ง

         การเสด็จพระราชดำเนินประทับแรม ณ ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญครั้งที่ ๒ วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ ทรงพัก ณ พระรามราชนิเวศน์หนึ่งคืนแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินไปค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญในวันรุ่งขึ้น ตลอดระยะเวลาที่ประทับแรม มีเรือพาลีรั้งทวีปมาลอยลำถวายอารักขาตลอดเหมือนครั้งก่อน ผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรีคนใหม่คือ พระยาทวีปธุรประศาสน์ (ชุบ โอสถานนท์) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพระยาพัชรินทรฦาชัย เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ในด้านการละเล่นกลางคืนมีเพลง ละครชาตรี หนังตะลุง นอกจากนี้มีโขนซึ่งแสดงโดยกรมทหารราบที่ ๑๔ และละครพูดเรื่อง “ทหารไทยไปราชการสงคราม ณ ประเทศยุโรป” แสดงโดยคณะนายทหารบกกองพลทหารบกที่ ๔ ราชบุรี เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานครวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ รวมเวลาประทับแรม ณ ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ ๑๘ วัน และเสด็จลงสรงน้ำทะเลทุกวัน

         ครั้งที่สาม เสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองเพชรบุรีเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔ พร้อมด้วยพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ โดยขบวนการรถไฟพระที่นั่ง ขณะนั้นมีรถไฟเล็กหรือรถไฟสายน้อยระหว่างสถานีต้นมะม่วงกับค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญแล้ว ในวันที่ ๒๔ เมษายน เสด็จพระราชดำเนินประพาสพระนครคีรี เสวยพระกระยาหารกลางวันบนพระนครคีรี วันที่ ๒๗ เมษายน เสด็จประพาสเขาหลวงและเสวยพระกระยาหารกลางวันในถ้ำเขาหลวง นอกจากนี้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมศาลากลางจังหวัด ประทับทอดพระเนตรการพิจารณาคดี ๑ เรื่อง แล้วเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมสโมสรเสือป่า

         สำหรับการละเล่นถวายครั้งนี้มีโขน แสดงโดยกรมทหารราบที่ ๑๔ แสดงตอนหนุมานถวายแหวน กองพลทหารบกที่ ๔ ราชบุรี แสดงละครพูดเรื่อง “ปลอมกาย” แสดงเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔ นอกจากนี้ ในงานพระราชทานเลี้ยงคล้ายวันเกิดพระยาอนิรุทธเทวา กรมมหรสพจัดแสดงละครพูดพระราชนิพนธ์เรื่อง “ไม่โกรธ” ถวายทอดพระเนตรและงานเลี้ยงพระราชทานคล้ายวันประสูติหม่อมเจ้าหญิงพรพิมลพรรณในกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ มีการเล่นสักรวาพระราชนิพนธ์ชื่อ สักรวาทะเล โดยมีกรมมหรสพขับลำนำ ต่อด้วยละครรำของชาวเมืองเพชร

         การเสด็จพระราชดำเนินค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญครั้งที่สามนี้รวม ๒๔ วัน เสด็จลงสรงน้ำทะเล ๑๐ ครั้ง มิได้แวะพระรามราชนิเวศน์เลย เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร โดยรถไฟพระที่นั่งเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔

         การเสด็จพระราชดำเนินมาค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญครั้งที่สี่ พร้อมด้วยพระอินทรานี พระสนมเอก เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๕ เมื่อเสด็จสถานีรถไฟหลวงพระรามราชนิเวศน์ประทับรถไฟเล็กไปยังค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ เมื่อเสด็จถึงค่ายหลวง เรือรบหลวง ๓ ลำคือ เรือรบหลวงพระร่วง, เรือรบหลวงพาลีรั้งทวีปและเรือสุครีพครองเมือง ยิ่งสลุต ๒๑ นัด โดยมีสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จมาตรวจปฏิบัติการเรือเหล่านี้อยู่ตั้งแต่วันที่ ๒๔ เมษายนถึงวันที่ ๑ พฤษภาคม ครั้นถึงวันที่ ๖ พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานครเพื่อประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญและพระราชพิธีวิสาขบูชา ส่วนพระอินทรานีและข้าราชบริพารยังคงอยู่ ณ ค่าย เพราะในขั้นต้นกำหนดว่าจะเสด็จพระราชดำเนินกลับจนถึงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม จึงมีพระราชโทรเลขให้พระอินทรนีกลับกรุงเทพฯ ส่วนข้าราชการบริพารยังรออยู่จนถึงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม จึงกลับไปพร้อมกัน ณ พระราชวังสนามจันทร์นครปฐม เพราะได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ ที่นั้น

         ขณะที่ประทับอยู่ ณ ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญครั้งที่สี่นี้ ทรงซ้อมละครเรื่อง “เกเรกำดัด” นอกจากนี้ข้าราชการกรมมหรสพแสดงลิเกเรื่อง “หันอากาศ” รวม ๒ วันติดต่อกัน ส่วนกองพลทหารบกที่ ๔ ได้ซ้อมบทละครพระราชนิพนธ์เรื่อง “เสียสละ” ไว้แล้ว ต้องไปแสดง ณ พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๕

         เสด็จพระราชดำเนินค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ ครั้งที่ห้า เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี (พระนางเจ้าอินทศักดิ์ศจี พระวรราชชายา) พ.อ. พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (อิ้น บุนนาค) ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ถวายการต้อนรับเสด็จ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรพระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ เป็นพระยาสุรพันธ์เสนี

         การเสด็จครั้งนี้กองทัพเรือได้ส่งเรือรบหลวงมกุฎราชกุมาร มารักษาการตั้งแต่เสด็จพระราชดำเนินมาจนถึงวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ จึงได้ส่งเรือรบหลวงสุครีพครองเมืองมาเปลี่ยน

         ระหว่างที่ประทับอยู่ครั้งนี้ ทางจังหวัดเพชรบุรีได้จัดการแสดงละครตลก ละครชาตรีและละครรำถวายทอดพระเนตรถึงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ พระองค์ทรงแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่อง “ผิดวินัย” เพื่อเก็บเงินบำรุงเสือป่าและทหารบกมณฑลราชบุรี

         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่าจะย้ายพระราชฐานจากค่ายหลวงหาดสำราญไปยังที่อื่น ทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุ ๓ ประการ คือ

๑.ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำจืดซึ่งแก้ไม่ตก

๒.การคมนาคมไม่สะดวก รถไฟเล็กเสียบ่อย

๓.มีแมลงวันหัวเขียวชุกชุม

ประการแรกเรื่องน้ำนี้ ทางจังหวัดต้องขนน้ำจืดไปจากตัวจังหวัดในระยะแรกใช้เรือโป๊ะใส่น้ำจืดบรรทุกไป โดยล่องแม่น้ำเพชรบุรีลงไปออกทะเลบ้านแหลม แล้วย้อนลงมาทางใต้ โดยมีเรือยนต์ของกองทัพเรือลากจูง แต่บางวันคลื่นจัด เรือโป๊ะถูกกระแทกพื้นทรายทำให้เรือล่ม เมื่อสร้างทางรถไฟเสร็จแล้ว ทางจังหวัดจึงได้จัดลำเลียงทางรถไฟเล็ก แต่ขนได้เพียงวันละเที่ยวและเที่ยวละ ๒๐๐ แกลลอนเท่านั้น

เรื่องบ่อน้ำจืด บริเวณหาดเจ้าสำราญมีเพียงบ่อเดียวอยู่ทางทิศใต้ของพระตำหนัก โดยเฉพาะปีสุดท้ายที่เสด็จมาประทับ มีผู้ติดตามจำนวนมาก ประกอบกับมีผู้ไปเปิดร้านขายอาหารแถบนั้นด้วย ฝนในปีสุดท้ายก่อนเสด็จก็ตกน้อย ทำให้น้ำในบ่อมีน้อยแต่มีคนใช้มาก แม้จะมีการสำรวจและไปขุดบ่อบริเวณใกล้เคียงก็ไม่สามารถจะหาน้ำจืดได้ น้ำจืดที่ลำเลียงไปใช้ของหลวงก็แทบจะไม่พอ การล้างภาชนะถ้วยชามที่ห้องเครื่องและห้องวรภาชน์ ต้องตักน้ำเค็มใส่ถังล้างเสียชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงล้างด้วยน้ำจืด สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จและต้องใช้น้ำจืดดังกล่าวต้องถูกขอร้องให้ประหยัดการใช้เป็นที่เดือดร้อนกันทั่วไป

   ประการที่สอง เรื่องการคมนาคมในสมัยก่อนทางไปหาดทะเลบางทะลุสามารถไปได้หลายทางหรือเดินทางบก ลงเรือไปตามคลองหลังวัดเกาะและล่องเรือจากแม่น้ำเพชรบุรีออกบ้านแหลมแล้วย้อนลงทางทิศใต้ เรื่องคลองนี้ในสมัยก่อนใช้ไปมาในฤดูฝน หน้าแล้งคลองแห้งหน้าน้ำคลองกว้างประมาณ ๔ - ๕ เมตร เรือสองแจวผ่านได้โดยออกจากหลังวัดเกาะหวังวัดป้อมวัดแรก ถึงคลองบางสะพานยายเอมถึงปากช่อง ตรงนี้จะแยกเป็นสองสาย สายหนึ่งไปออกทะเลที่บางแก้ว อีกสายไปออกบางทะลุสายที่ไปออกบางทะลุจะผ่านนาโพธิ์ถึงเจ็ดสี โพธิ์พระ ผ่านวัดโพธิ์พระใน บ้านหัวคูปากง่าม บางพรม ดอนมะขามช้าง ถึงบางทะลุตรงวัดบางทะลุแล้วออกทะเล ส่วนทางถนนนั้นห่างจากตัวเมือง ๑๕ กิโลเมตร สมัยนั้นถนนสายนี้ได้ตัดไว้แล้วตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นถนนดิน บางตอนน้ำทะเลท่วมถึง บางตอนต้องปรับและถมดินใหม่ต้องขุดตอไม้เพื่อให้รถยนต์ผ่านได้ เมื่อถึงหน้าฝนทางจังหวัดได้ใช้ไม้ไผ่สานปูคล้ายเสื่อเพื่อให้ล้อรถยนต์ผ่านได้ มิเช่นนั้นจะติดหล่ม รถยนต์แล่นใช้เวลา ๔๐ นาที เกวียนเดินใช้เวลา ๖ ชั่วโมง

สำหรับรถไฟเล็กหรือรถไฟสายน้อยนั้น เริ่มต้นจากสถานีตำบลต้นมะม่วงถึงค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) เป็นแม่กองจัดสร้างรถไฟเล็กนี้ เดิม กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงสั่งมาเดินระหว่างนางเลิ้งกับสวนจิตลดาในงานฤดูหนาว ต่อมาพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ได้ขอพระราชทานมาสร้างถวาย โดยเริ่มสถานีต้นทางตรงมุมถนนไปหาดเจ้าสำราญ มีพลับพลาก่ออิฐปูน บานประตูกระจกสี่ด้าน พระราชทานนามว่า “สถานีหลวงพระรามราชนิเวศน์” ส่วนปลายทางอยู่ใกล้กับทางเข้าพระราชฐาน ณ หาดเจ้าสำราญ ไม่มีสถานีย่อยระหว่างทาง ประโยชน์ของรถไฟเล็กนี้เพื่อขนผู้โดยสารคือข้าราชบริพารตามเสด็จระหว่างตัวเมืองกับค่ายหลวง ผู้โดยสารจะต้องตีตั๋วด้วย รถไฟขบวนนี้มี ๖ ตู้ นอกจากลำเลียงผู้โดยสารแล้ว ยังต้องใช้ลำเลียงน้ำจืดไปยังค่ายอีกด้วย รถขบวนนี้ใช้ตัวรถจักรไอน้ำของเก่านำมาปรับปรุงใหม่ แต่รถก็ยังอยู่ในสภาพที่ไม่คอยดีนัก เมื่อแล่นไปได้ไม่เท่าไรตะขอพ่วงจะหลุด เพราะรถขณะที่แล่นจะเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา จนผู้โดยสารต้องร้องเอะอะให้พนักงานขับรถหยุด สำหรับทางที่วางรางรถนั้นก็ไม่ได้พูนดินให้สูง ทางรถไฟก็ตัดไม่ตรง รถขณะแล่นผู้โดยสารสามารถวิ่งไล่ตามได้ทัน

   ปัญหาประการสุดท้ายคือแมลงวันหัวเขียวชุกชุม ในระยะแรกๆ ที่เสด็จไม่ค่อยมี แต่ในครั้งหลังสุดนั้นปรากฏว่ามีเป็นจำนวนมากต้องระดมกันปราบ โดยจ้างนักเรียนในจังหวัดไปจับ หาไม้มาตี ใช้แซ่มาไล่ จัดหาเครื่องดักหลายอย่างมาใช้แต่ก็ยังมีชุกชุม มหาดเล็กกองตั้งเครื่องต้องรับภาระหลัก โดยเฉพาะเวลาเสวยมีแมลงวันบินมาจับเกาะบนโต๊ะ มหาดเล็กใช้ไม้ตีและไล่ขณะกำลังเสวย แมลงวันตายบนโต๊ะเสวยเป็นที่น่าสะอิดสะเอียนยิ่งนัก แต่พระองค์มิได้เอื้อนพระโอษฐ์รับสั่งแต่ประการใด

ด้วยสาเหตุดังกล่าวมาแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) กับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ลงเรือยนต์ประจำเรือรบหลวงสุครีพครองเมืองแล่นเลียบชายฝั่งลงไปทางใต้และตกลงเลือกได้ชายหาดตำบลบางควาย ในเขตอำเภอชะอำ ทำเลดีใกล้ทางรถไฟ มีบ่อน้ำจืดหาดทรายขาวและยาวและยังอยู่ในจังหวัดเพชรบุรีตามพระราชประสงค์ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสถานที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ซึ่งต่อมาได้สร้างพระตำหนัก ณ ที่นั้น และพระราชทานนามใหม่ว่า พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

   การเสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรม ณ ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญครั้งที่ห้านี้นับเป็นครั้งสุดท้าย เสร็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานครพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖

   ขณะที่ประทับแรมอยู่ ณ ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญทั้งห้าครั้งนั้น เมื่อไม่มีพระราชภารกิจอื่นใดจะทรงพระอักษรวันละหลายชั่วโมงใช้เวลาบ่ายก่อนเสวยพระกระยาหารกลาวันและตอนค่ำ ณ ที่ค่ายแห่งนี้ทรงพระราชนิพนธ์ละครเรื่อง “ท่านรอง” พระราชนิพนธ์เสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อ่านเมื่อคืนวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ การเสด็จครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๔๖๒ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง “ต้นหมาปลายหมา” พระราชทานแก่หนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต เสด็จครั้งที่สาม พ.ศ. ๒๔๖๔ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูดเรื่อง “เสียสละ” เริ่มวันที่ ๒๘ เมษายน และพระราชนิพนธ์เสร็จวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับเพียง ๒ วัน

ปัจจุบันหาดเจ้าสำราญมีเพียงชื่อเป็นอนุสรย์เท่านั้นว่าครั้งหนึ่งสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรมเป็นเดือนๆ ไม่มีสัญลักษณ์ทางวัตถุอื่นใดที่ปรากฏ แม้เพียงป้ายชื่อสถานที่ตั้งค่ายหรือตำหนัก ดังข้อเขียนของจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ตอนหนึ่งว่า

“สถานที่แห่งหนึ่งที่เคยเป็นที่ประทับนั้น น่าจะมีอะไรเหลือทิ้งเอาไว้เป็นอนุสรณ์แก่คนข้างหลังบ้าง แต่นี่ช่างหมดสิ้นร่องรอยไปโดยเร็วจนแทบไม่น่าเชื่อ เพราะแม้แต่ตัวผู้เขียนเองซึ่งเคยตามเสด็จในวัยหนุ่ม ครั้นมาบัดนี้แม้จะตกเจ้าปูนชรา แต่ก็ยังพอแข็งแรงขนาดออกเดินทางไปเที่ยวหัวหินอยู่เป็นนิจ ครั้นได้ลองวิ่งรอจากเพชรบุรี เพื่อเยี่ยมหาดเจ้าสำราญอีก ก็มีข่าวความเจริญที่มีการก่อสร้างโรงแรมและบ้านพักของผู้มีเกียรติใหม่ๆ ขึ้นมาสิกลับต้องพบความสลดใจ เพราะแทบจะหาร่องรอยจากสถานที่ที่เคยประทับไม่พบ อนิจจานี่แหละ-พระตำหนักประทับร้อนหาดเจ้าสำราญ ซึ่งยังเหลืออยู่แต่ชื่อในความทรงจำครั้งอดีตเท่านั้น”

 

 

บรรณานุกรม

 

ปิ่น มาลากุล, ม.ล.   “ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ” แสดงคุณานุคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเรื่องค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ พิมพ์ในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดบรมวงศ์อิศรวราราม, ๒๕๑๖

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๕ มิถุนายน ๒๔๖๑ หน้า ๕๑๙ – ๕๒๐

------------------.  หน้า ๖๒๖

------------------.  หน้า ๖๖๓ – ๖๖๕

------------------.  หน้า  ๖๖๕ – ๖๖๗

------------------.  หน้า  ๙๘๑ – ๙๘๔

สัมภาษณ์ ลุงสาย ดีหะริง อายุ ๘๕ ปี  ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๔

อมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช), จมื่น  “ที่ประทับชายทะเลของ ร.๖” ใน เอกสารประกอบความรู้ การฝึก ท.ป.ส. กองบัญชาการตำรวจตระเวณชายแดน กรมตำรวจ, ๒๕๑๖

 

 

สมบูรณ์ แก่นตะเคียน

 

 

 

บทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน
หน่วยงานของรัฐ
  สกสค. ภูเก็ต
  ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
  อบจ. ภูเก็ต
  สนง.เขตการศึกษาภูเก็ต
  เทศบาลนครภูเก็ต
  เทศบาลเมืองกะทู้
  เทศบาลเมืองป่าตอง
  เทศบาลตำบลวิชิต
  เทศบาลตำบลรัษฎา
  เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี
  เทศบาลตำบลฉลอง
  เทศบาลตำบลศรีสุนทร
  อบต.สาคู
  อบต.เกาะแก้ว
  ขนส่งจังหวัดภูเก็ต
โรงพยาบาล
  โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
  โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต
  โรงพยาบาลถลาง
  โรงพยาบาลสิริโรจน์
  โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต
  โรงพยาบาลมิชชั่นภูเก็ต
เที่ยวภูเก็ต
  ภูเก็ตท่องเที่ยว
  แอร์เอเชีย
  บางกอกแอร์
  การบินไทย
  นกแอร์
  โอเรียนท์ไทย
แลกเปลี่ยนเงินตราและหุ้น
  ตลาดหลักทรัพย์-หุ้น
  ตลาดหุ้น
หนังสือพิมพ์
  มติชน
  ข่าวสด
  ไทยรัฐ
  เดลินิวส์
  voice tv
  สำนักข่าวอิศรา
  ผู้จัดการ
  แนวหน้า
  ไทยโพสต์
  บ้านเมือง
  โพสต์ทูเดย์
  สยามสปอร์ต
  เจาะลึกระบบสุขภาพ
  THE STANDARD
  the MATTER
  มุสลิมไทยโพสต์
  สยามธุรกิจ
  มติชนสุดสัปดาห์
  ไทยทริบูน Thai Tribune
  Bangkok Post
  ข่าวช่อง3
  เรียงเบอร์
หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
  ข่าวภูเก็ต
  theThaiger
  Phuket Wan
  ข่าวภูเก็ตออนไลน์
  เสียงใต้รายวัน
หางานทำที่ภูเก็ต
  ศูนย์รวมงานจังหวัดภูเก็ต
  สมัครงานที่ภูเก็ต
  หางานทำที่จังหวัดภูเก็ต
หนังสือพิมพ์เพื่อนบ้าน
  ซินหัวไทย
  BBC news / ไทย
  NIKKEI ASIA
  Vientianemai
  Pasaxon
  The Phnom Penh Post
  The Myanmar Times
  Myammar - now
  The Irrawaddy
  Thanh Nien News
  Hanoitimes
  malaysiakini
  The StraitsTimes
  New Straits Times
  Tha Jakatar Post
  The Jakarta Globe
  Inside Indonesia
  The Manila Times
  Phillippine Daily Inquirer
  Phillippine Times
มูลนิธิ สมาคม
  มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต
  มูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต
เรื่องน่าสนใจ
  สถิติโลก
  เวลาทั่วโลก
  รหัสไปรษณีย์ไทย
  การหาระยะทางจากเมืองสู่เมือง